11 กรกฎาคม 2561

พระราช​นิพนธ์​นิราศท่าดินแดง​

  
 @เหตุการณ์​นี้​เป็น​เหตุการณ์​ประวัติศาสตร์​สำคัญ​ของทหาร​เรือ​ไทย​ ที่พระมหากษัตริย์​ทรง​เป็น​แม่ทัพเรือ​​ใหญ่คุมกองเรือ​จากพระมหาราชวัง ผ่านวัดอรุณ​ฯ เข้าคลองบางกอกใหญ่​ ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ถึแยกวัดปากน้ำ​ เดินทางเข้าไปทางจอมทอง, ​นางนอง, บางขุนเทียน
(จัดพิธีตั้งโขลนทวารในการยกทัพออกจากเมืองต้องประกอบร่วมกับพิธีตัดไม้ข่มนาม การประกอบพิธีต้องมีสถานที่สำหรับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และสวดชยันโต ตั้งพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชา บาตรน้ำพระพุทธมนต์ จับสายสิญจน์วงรอบโขลนทวารพอให้พระสงฆ์ถือสวดได้ และยังมีพราหมณ์หมอเฒ่า ๒ คน พราหมณ์พิธี ๒ คน ทำหน้าที่ประพรมน้ำเทพมนตร์และเป่าสังข์ มีเกยหอ ๒ เกยสำหรับพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และพราหมณ์ประพรมน้ำเทพมนตร์เมื่อเวลาทหารช้างม้าผ่านโขลนทวาร ส่วนการตัดไม้ข่มนามต้องเอาต้นไม้ที่มีชื่อร่วมตัวอักษรกับชื่อข้าศึกมาสมมติว่าเป็นตัวข้าศึก เอาพระแสงอาชญาสิทธิ์ฟันต้นไม้นั้นแล้วให้ทหารเดินข้ามไปเป็นการข่มนามข้าศึก)
โดยที่ตั้งโขลนทวารครั้งนั้น ว่าอยู่ตรงวัดไทรอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี(จาก​ใน​นิราศ​เมือง​เพชร​ของ​สุนทร​ภู่​กล่าว​ไว้ในต้นรัชกาลที่๔​ ​ว่า​    
๏ ถึงวัดกกรกร้างอยู่ข้างซ้าย  
เป็นรอยรายปืนพม่าที่ฝาผนัง
ถูกทะลุปรุไปแต่ไม่พัง 
แต่โบสถ์ยังทนปืนอยู่ยืนนาน
แม้นมั่งมีมิให้ร้างจะสร้างฉลอง   
ให้เรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร
ด้วยที่นี่ที่เคยตั้งโขลนทวาร   
ได้เบิกบานประตูป่าพนาลัย ๚
   
๏ โอ้อกเอ๋ยเลยออกประตูป่า   
กำดัดดึกนึกน่าน้ำตาไหล
จะเหลียวหลังสั่งสาราสุดาใด   
ก็จนใจด้วยไม่มีไมตรีตรึง
ช่างเป็นไรไพร่ผู้ดีก็มิรู้   
ใครแลดูเราก็นึกรำลึกถึง
จะปรับไหมได้หรือไม่อื้ออึง   
เป็นที่พึ่งพาสนาพอพาใจ
โอ้นึกนึกดึกเงียบยะเยียบอก  
  เห็นแต่กกกอปรงเป็นพงไสว
ลดาวัลย์พันพุ่มชอุ่มใบ   
เรไรไพเราะร้องซ้องสำเนียง
เสียงกรอดเกรียดเขียดกบเข้าขบเขี้ยว   
เหมือนกรับเกรี้ยวกรอดกรีดวะหวีดเสียง
หริ่งหริ่งแร่แม่ม่ายลองไนเรียง  
  แซ่สำเนียงหนาวในใจรำจวน
เหมือนดนตรีปี่ป่าประสายาก   
ทั้งสองฟากฟังให้อาลัยหวน
ดังขับขานหวานเสียงสำเนียงนวล  
  เมื่อโอดครวญคราวฟังให้วังเวง ๚)
แล้วจึง​ออกคลอง​มหา​ชัย​ ล่องถึง​แม่น้ำ​ท่าจีน​ ตัดข้ามแม่น้ำ​เข้าสู่คลองสุนัขใน​ หรือคลองสุนัขหอน ไปเข้าคลองแม่กลอง จนถึงแม่น้ำ​แม่​กลอง​ที่จังหวัด​สมุทร​สงคราม​ ล่องเรือ​ขึ้น​ไป​ตาม​ลำน้ำ​ผ่าน​เข้าสู่​ราชบุรี​ ล่วงเลย​ถึง​จังหวัด​กาญจนบุรี​ในปัจจุบั​น​ ต้นแม่น้ำ​แม่​กลอง​ แยก​เข้า​ลำน้ำ​แควน้อ​ยผ่านเกาะแก่ง ผาน้ำตกจึงยกพลขึ้นบกที่ ไทรโย​ค​นี้ เปลี่ยนทัพดั่งนาวิกโยธิน เดินทัพต่อไปบุกโจมตีพม่ายังท่าดินแดง​จนได้รับชัยชนะ​อย่า​งเด็ดขาด​ในครั้ง​นั้น...
ตามบทพระราช​นินิพนธ์​ว่า
(ถึงไทรโยคปลายแดนนัครา
มิให้หยุดโยธาเร่งคลาไคล
แต่เห็นทางท่าชลานั้น
เป็นเกาะแก่งขัดขั้นล้วนเนินไศล
ยากที่นาวีจะหลีกไป
จึงสั่งให้รอรั้งยั้งนาวา
เร่งรีบคชสารอัสดร
บทจรตามแถวแนวพฤษา
ชมพรรณมิ่งไม้นานา
บ้างทรงผลปนผกาเขียวขจี)




_______
พระราชนิพนธ์​รัชกาลที่ ๑
นิราศ​ท่า​ดินแดง​
_______
๏ แสนรักสุดรักภิรมย์สมร
ทุกอนงค์ทรงลักษณ์อันสุนทร
สถาวรพูนสวาดิ์สวัสดี
ประกอบศักดิสมบูรณ์จำรูญเนตร
อัคเรศงอนงามจำเริญศรี
แสนกระสันปั่นป่วนฤดีทวี
มีมโนเสน่ห์น้อมถนอมนวล
อันราคีมิให้เคืองระคางข้อง
ปองประคองนิ่มเนื้อนวลสงวน
หวังสวาดิ์มิรู้ขาดอารมณ์ครวญ
เปนที่ชวนชูชื่นทุกอิริยา
เกษมศุขภิรมย์สมสมาน
เคยสำราญมิได้แรมนิราศา
ไม่นิราศขาดชมสักเวลา
บำเรอล้อมพร้อมหน้าไม่ราวัน
นิจาเอ๋ยโอ้กรรมจึงจำไกล
มาซ้ำให้ทุเรศร้างมไหสวรรย์
ก็เพราะมีอริราชไภยัน
เข้าหักหั่นด่านแดนบุรีรมย์
จึงต้องกรูกรีธาพลากร
มาจำจรจากศุขเกษมสม
สาระพัดสิ่งสวัสดิ์ที่เคยชม
ก็นิยมให้วิโยคด้วยจำเปน
เมื่อวันออกนาเวศทุเรศสถาน
แสนสงสารสุดอาไลยใครจะเห็น
พี่เคยทัศนาเจ้าทุกเช้าเย็น
เพราะเกิดเข็ญจึงต้องละสละมา
ครั้นถึงด่านดาลทเวศทวีถึง
คนึงในให้หวนละห้อยหา
ถึงนางนองเหมือนพี่นองชลนา
ยิ่งอาทวาอาวรณ์สะท้อนใจ
ครั้นถึงโขลนทวาร[๑]ยิ่งลานแล
ให้หวาดแหวอารมณ์ดังจะล้มไข้
จนลุล่องคลองชลามหาไชย
ย่านไกลสุดสายในตาแล
เหมือนอกเราที่นิรามาทุเรศ
เหลือสังเกตมุ่งหามาห่างแห
รกำเดียวเปลี่ยวดิ้นฤดีแด
จนล่วงกระแสสาครบุรีไป
ลุสถานบ้านบ่อนาขวาง
ให้อางขนางร้อนรนกระมลไหม้
ถึงย่านซื่อเหมือนพี่ซื่อสังวรใจ
มิได้มีลำเอียงเที่ยงธรรม์
เมื่อถึงสามสิบสามคดแล้ว
แคล้วแคล้วเหมือนจะกลับมารับขวัญ
คล้ายคล้ายอัษฎงค์พระสุริยันต์
ก็บรรลุถึงคลองสุนักข์ใน
พอชลาถอยถดลงลดฝั่ง
เรือคั่งเคืองเขินไม่เดินได้
พลพายรายกันลงเข็นไป
เหมือนเข็ญใจเคืองจิตรที่จากมา
ครั้นเพลาสุริยาอรุณเรือง
แสงประเทืองเบื้องบูรพ์ทิศา
พอตกลึกแล้วให้ล่องนาวาคลา
ประทับท่าเมืองสมุทบุรีรมย์
อันฝูงชนชาวบ้านย่านนั้น
ผิวพรรณไม่รื่นรวยสวยสม
ไม่เปนที่ชวนชื่นอารมณ์ชม
ยิ่งเกรียมตรมสุดแสนรกำใจ
ให้ปั่นป่วนหวนสวาดิประวัติหา
จะดูใครไม่พาใจชื่นได้
จึงให้ออกนาวาคลาไคล
รีบไปตามสายชลธี
อันเรือหลังดั้งกันสิ้นทั้งหลาย
ก็พายแซงแข่งขึ้นไปอึงมี่
โห่สนั่นครั่นครื้นทั้งนาวี
มีแต่ความเกษมศุขไปทุกคน
เสียงเส้าเร้าเร่งพลพาย
เหมือนรักหมายสายสวาดิทุกขุมขน
ให้อักอ่วนป่วนจิตรจลาจล
ถึงตำบลบางกุ้งเป็นคุ้งเลี้ยว
ยิ่งลับไม้ไกลเนตรทุเรศสถาน
ให้แดดาลหวั่นหวั่นกระสันเสียว
ดังเอกามาแต่นาวาเดียว
เปลี่ยวสวาดินิราศไร้ภิรมย์ชม
มาถึงย่านนกแขวกแสกส่งเสียง
ฟังสำเนียงถอนใจเพียงใจล่ม
เคยยินเสียงประโคมขานสำราญรมย์
โอ้ครั้งนี้มาระงมแต่เสียงนก
แสนทุเรศเวทนานิจาเอ๋ย
นี่ใครเลยจะเลงเห็นในอก
ได้ระกำช้ำใจมาหลายยก
หวังจะป้องปิดปกให้พ้นไภย
มิให้หมู่พาลาอาธรรม์
มาย่ำยีเขตรขัณฑ์บุรีได้
จึงสู้สละรักหักใจ
มาทนเทวศอยู่ไกลเอกา
ถึงบำหรุเหมือนพี่บำราศรัก
ให้อักอ่วนครวญใคร่อาไลยหา
ครั้นลุราชบุรีภิรมยา
ที่อาทวาหักอารมณ์ค่อยสมประดี
จึงรีบรัดจัดหมู่โยธา
ให้อยู่รักษาบุรีศรี
ครั้นอรุณเรืองแรงแสงรวี
ก็จรลีนาเวศทุเรศจร
ด่วนเดินโดยทางชลมารค
แสนลำบากด้วยร้างแรมสมร
กระหายหิวหวิวใจให้อาวรณ์
แต่ข้อนข้อนขุ่นเข็ญเปนนิรันดร์
ถึงท่าราบเหมือนที่ทาบทรวงถวิล
ยิ่งโดยดิ้นโหยหวนครวญกระสัน
ด้วยได้ทุกข์ฉุกใจมาหลายวัน
จนบรรลุเจ็ดเสมียนตำบลมา
ลำลำจะใคร่เรียกเสมียนหมาย
มารายทุกข์ที่ทุกข์คนึงหา
จึงรีบเร่งนาเวศครรไลคลา
พอทิวากรเยื้องจะสายัณห์
ก็ลุยังวังศิลาท่าลาด
ชายหาดทรายแดงดังแกล้งสรร
จึงประทับแรมรั้งยังที่นั้น
พอพักพวกพลขันธ์ให้สำราญ
พรั่งพร้อมล้อมวงเปนหมู่หมวด
ชาวมหาดตำรวจแลทวยหาญ
เฝ้าแหนแน่นนันต์กราบกราน
นุ่งห่มสครานจำเริญตา
ต่างว่าจะเข้าโหมหักศึก
ห้าวฮึกขอขันอาสา
ไม่คิดกายขอถวายชีวา
พร้อมหน้าถ้วนทั่วทุกตัวไป
แต่ตริการที่จะผลาญอรินราช
จนโอภาสแสงจันทร์จำรัสไข
ให้ขุกคิดอาวรณ์สท้อนใจ
ถึงอนงค์นางในไม่รู้วาย
ด้วยเคยทอดทัศนาไม่รารัก
ภิรมย์ภักตร์ร้องรำบำเรอถวาย
บ้างเฝ้าแหนหมอบเมียงเรียงราย
กรกรายโบกพัชนีพาน
ยิ่งเร่าร้อนถอนทอดฤไทยทุกข์
เมื่อเคยศุขฤๅมาเสื่อมทุกสิ่งสมาน
จนลืมหลงที่ดำรงดำริห์การ
แต่เดือดดาลอารมณ์ไม่สมประดี
จนเพลาสิบทุ่มยิ่งรุ่มร้อน
ให้ยกพลนิกรออกจากที่
กระบวนทัพซับซ้อนมามากมี
โห่มี่สเทือนก้องท้องวาริน
ถึงม่วงชุมเหมือนเมื่อเคยประชุมเฝ้า
ยิ่งร้อนเร่ารื้อกำหนัดประวัติถวิล
ยามเสวยเคยเห็นเปนอาจิณ
แดดิ้นถึงเนื้อวิมลมาลย์
แสนเทวศเสื่อมสิ้นสิ่งสวาดิ์
ด้วยนิราศแรมร้างห่างสถาน
ถึงยามชื่นมิได้ชื่นสำราญบาน
แต่นี้นานสวาดิเว้นไม่เห็นใคร
ถึงปากแพรกซึ่งเปนที่ประชุมพล
พร้อมพหลพลนิกรน้อยใหญ่
ค่ายคูเขื่อนขันธ์ทั้งนั้นไซ้
สารพัดแต่งไว้ทุกประการ
จึงรีบรัดจัดโดยกระบวนทัพ
สรรพด้วยพยุหทวยหาญ
ทุกหมู่หมวดตรวจกันไว้พร้อมการ
ครั้นได้ศุภวารเวลา
ให้ยกขึ้นตามทางไทรโยคสถาน
ทั้งบกเรือล้วนทหารอาสา
จะสังหารอริราชพาลา
อันสถิตย์อยู่ยังท่าดินแดง
ครั้นเดือนสามวันแรมเก้าค่ำ
ย่ำรุ่งสี่บาทอรุณแสง
จึงให้ยกพหลรณแรง
ล้วนกำแหงหาญเหี้ยมสงครามครัน
ไปโดยพยุหบาตรรัถยา
พลนาวาตามไปเปนหลั่นหลั่น
สพรึบพร้อมน่าหลังดั้งกัน
โห่สนั่นสเทือนท้องนทีธาร
รีบเร่งพลพายให้เร่งพาย
ฝืนสายชลเชี่ยวฉ่าฉาน
ถึงตำแหน่งแก่งหลวงศิลาดาล
ชลธารไหลเชี่ยวเปนเกลียวมา
แต่จำเภาะเตราะตรอกซอกทาง
แก่งเกาะขัดขวางอยู่หนักหนา
แสนลำบากยากใจที่ไคลคลา
ใครจะเห็นเวทนาบันดามี
สองวันบรรลุถึงวังยาง
คนึงวังอ้างว้างเกษมศรี
เคยเป็นศุขทุกทิวาราตรี
โอ้ครานี้มีกรรมมาจำไกล
ถึงบางลานยิ่งดาลทรวงสมร
ให้ขุ่นข้อนอารมณ์หม่นไหม้
จึงเร่งรีบนาวาคลาไคล
มาถึงไศลชลธีศีขรินทร์
สูงส่งตรงโตรกโดดเดี่ยว
อยู่ริมสายชลเชี่ยวกระแสสินธุ์
พรายแพร้วดังแก้วแกมนิล
ปักษินบินร้องระงมไพร
บ้างจับไม้รายเรียงบนเชิงเขา
บ้างง่วงเหงาหาคู่พิศมัย
นกเอ๋ยยังรู้มีอาไลย
อกเราฤๅจะไม่เวทนา
ครั้นบรรลุถึงศาลเทพารักษ์
อันพิทักษ์ปากน้ำประจำท่า
มีแต่ศาลสันโดษอยู่เอกา
คิดมาเหมือนอกพี่ที่จากจร
เห็นอารักษ์แล้วคิดสังเวชจิตร
มาไร้มิตรเหมือนพี่ร้างแรมสมร
สารพัดจะวิบัติอนาทร
แต่ร้อนแรมตามทางทุเรศมา
ครั้นมาถึงวังนางตะเคียน
พิศเพี้ยนมิ่งไม้ใบหนา
คั่งเคียงเรียงเรียบริมชลา
สาขารื่นร่มสำราญใจ
ต้นไม้เปลาเปลาอยู่สล้าง
เหมือนไม้กระถางวางเรียงงามไสว
ชมพลางพลางรีบนาวาไป
บรรลุล่วงมาได้หลายตำบล
มาทางพลางแสนคนึงหา
นัยนาแลลับไพรสณฑ์
ยิ่งแดดาลร่านร้อนทุรนทน
จนลุดลเขาท้องไอยรารมย์
เป็นช่องชั้นเชิงผาศิลาลาด
รุกขชาติรื่นรวยสวยสม
ไพจิตรพิศพรรณอยู่น่าชม
ลมพัดพากลิ่นสุมาลย์มา
มีท่อธารน้ำพุดุดั้น
ตลอดลั่นไหลลงแต่ยอดผา
เปนโปลงปล่องช่องชั้นบรรพตา
เซนซ่าดังสายสุหร่ายริน
บ้างเปนท่อแถวทางหว่างบรรพต
เลี้ยวลดไหลมาไม่รู้สิ้น
น้ำใสไหลซอกศิขรินทร์
แสนถวิลถึงสวาดิ์ไม่คลาดคลา
เกษมศุขสรงสนานสำราญเริง
บรรเทิงจิตรพิศวงหรรษา
ชลอได้ก็จะใคร่ชะลอมา
ให้เปนที่ผาศุกทุกนางใน
คิดเคยเมื่อเคยสรงสนาน
สุธาธารทิพรศสดใส
อันหอมหวนอวลอบสุมาไลย
มาร้างไร้สุคนธกำจร
เจ้าเคยถวายภูษาสุธาสรง
อันบรรจงทิพรศเกสร
เคยไพบูลย์ด้วยตรุณนิกร
ทีนี้มาจำจรอยู่เอกา
ชมเขาลำเนาพนาวาศ
แสนสวาดิ์ไม่วายถวิลหา
ถึงไทรโยคปลายแดนนัครา
มิให้หยุดโยธาเร่งคลาไคล
แต่เห็นทางท่าชลานั้น
เป็นเกาะแก่งขัดขั้นล้วนเนินไศล
ยากที่นาวีจะหลีกไป
จึงสั่งให้รอรั้งยั้งนาวา
เร่งรีบคชสารอัศดร
บทจรตามแถวแนวพฤกษา
ชมพรรณมิ่งไม้นานา
บ้างทรงผลปนผกาเขียวขจี
ลางต้นสาขาดูน่าชม
รื่นร่มมิดแสงพระสุรศรี
สดับเสียงปักษาสุวาที
ลิงค่างบ่างชนีวิเวกดง
เสนาะเสียงจักระจั่นสนั่นไพร
แม่ม่ายลองไนในป่าระหง
เรไรร้องหริ่งหริ่งอยู่ริมพง
ส่งเสียงดังสำเนียงอนงค์นวล
คิดคล้ายลม้ายเหมือนดนตรี
จำเรียงรี่เรื่อยโรยโหยหวน
ยิ่งซับซาบอาบชื่นอารมณ์ชวน
กำสรวญว้าเหว่ทุเรโรย
ฟังแต่เสียงสำเนียงนกวิหคร้อง
วิเวกก้องเกริ่นไพรฤไทยโหย
รุกขชาติแกว่งกวัดสบัดโบย
ลมโชยคันธรศจรุงใจ
ตวันรอนอ่อนแสงจะอัสฎงคต์
เหล่าจัตุรงค์เตรียมกายทั้งนายไพร่
แรมร้อนนอนแนวพนาไลย
เขตรไศลป่าระหงดงดอน
นอนเดียวเปลี่ยวเทวศทวีทุกข์
ไม่มีศุขเร่าร้อนสท้อนถอน
แสงจันทร์ส่องสว่างกลางอัมพร
ยิ่งอาวรณ์หวังสวาดิ์ไม่ขาดคิด
วายุพัดพานดวงศศิธร
เขจรจรบังเมฆมิดสนิท
พิรุณโรยโปรยปรายใบไม้ชิด
สท้านจิตรเจียนจักเปนไข้ใจ
เย็นฉ่ำน้ำฟ้าลอองฝน
มาทนเทวศครั้งนี้จะมีไหน
ถึงทั้งหลายหนาวกายได้ผิงไฟ
ไม่เหมือนพี่หนาวใจที่ในทรวง
เห็นดาวดึกนึกหวนรัญจวนหา
ในอุราเพียงทับด้วยเขาหลวง
อันหาบหามที่เขาตามมาทั้งปวง
ไม่หนักทรวงเหมือนพี่หนักอาไลยไกล
เขาหนักหาบถึงที่ก็ได้พัก
พี่หนักรักนี้ไม่ปลงเอาลงได้
มีแต่คอนข้อนทุกข์ทุกวันไป
จะเห็นใจฤๅที่ใจการุญกัน
แต่นอนนิ่งกลิ้งกลับไม่หลับสนิท
ยิ่งคิดคิดก็ยิ่งโทมนัศสันต์
จนอรุณเรืองศรีระวีวรรณ
จึงให้ยกพลขันธ์ยาตรา
ออกจากเนินผาศิลาพนัศ
เร่งรัดทวยหาญทั้งซ้ายขวา
ไปตามแถวแนวในพนาวา
พอสุริยาสายัณห์ลงรอนรอน
ก็ถึงด่านท่าขนุนโดยหมาย
ให้ตั้งค่ายตามเชิงศิขร
แล้วรีบเร่งพหลพลนิกร
ทั้งลาวมอญเขมรไทยเข้าโจมตี
ทัพพม่าอยู่ยังท่าดินแดง
แต่งค่ายรายไว้เปนถ้วนถี่
ทั้งเสบียงอาหารสารพันมี
ดังสร้างสรรค์ธานีทุกประการ
มีทั้งพ่อค้ามาขาย
ร้านรายกระท่อมพลทุกสถาน
ด้านหลังท่าทางวางตะพาน
ตามลหานห้วยน้ำทุกตำบล
ร้อยเส้นมีฉางระหว่างค่าย
ถ่ายเสบียงมาไว้ทุกแห่งหน
แล้วแต่งกองร้อยอยู่คอยคน
จนตำบลสามสบครบครัน
อันค่ายคูประตูหอรบ
ตบแต่งสาระพัดเปนที่มั่น
ทั้งขวากหนามเขื่อนคูป้องกัน
เปนชั้นชั้นอันดับมากมาย
ให้ทหารเข้าหักโหมโรมรัน
สามวันพวกพม่าก็พังพ่าย
แตกยับกระจัดพลัดพราย
ทั้งค่ายคอยน้อยใหญ่ไม่ต่อตี
ให้ติดตามไปจนแม่กษัตร
เหล่าพม่ารีบรัดลัดหนี
บ้างก็ตายก่ายกองในปัถพี
ด้วยเดชะบารมีที่ทำมา
ตั้งใจจะอุประถัมภก
ยอยกพระพุทธสาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสิมา
รักษาประชาชนแลมนตรี
จะบำรุงทั้งฝูงสุรางค์รัก
ให้อัคเรศเป็นศุขจำเริญศรี
ครั้นเสร็จการผลาญราชไพรี
ก็ให้กรีธาทัพกลับมา
ทั้งทิวาราตรีไม่หยุดหย่อน
ด้วยอาวรณ์ทนเทวศถวิลหา
แสนคนึงถึงสวาทไม่คลาศคลา
แต่พร่ำปรารภนั้นเปนอาจิณ
จิตรเจ็บจะขาดด้วยนิราศรศ
จะอดไว้ก็สุดอาไลยถวิล
อันบำราบรบราชไพริน
ถึงจะไร้ศรศิลป์ที่ชิงไชย
ก็พอจะพยายามตามตี
ให้ชนะไพรีจงได้
จะสู้สงครามรักนี้หนักใจ
ด้วยไร้ศรรศสวาดิ์จะราวี
อันแสนศึกทั้งหลายก็พ่ายแพ้
ยากแต่จะรบรักให้หน่ายหนี
ที่ลำบากแต่หลังในครั้งนี้
สุดที่จะปรับทุกข์กับผู้ใด
อันฝูงสุรางค์นางทั้งหลาย
ยังค่อยอยู่ศุขสบายฤๅไฉน
ฤๅในจิตรคิดอ่านประการใด
อย่าอำไว้จงแจ้งแต่จริง เอย ฯ
@จบพระราชนิพนธ์

อธิบาย
เรื่อง พระราชนิพนธ์นิราศฯ ท่าดินแดง
_______________
    เมื่อรัชกาลที่ ๑ พอสร้างกรุงรัตนโกสินทร์สำเร็จในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ ปีนั้นเอง พม่าก็ยกกองทัพมาตีเมืองไทย ศึกพม่าครั้งปีมะเส็งนั้นใหญ่โตกว่าที่เคยปรากฏในพงศาวดารมาแต่ก่อน เพราะพม่ายกกองทัพมาทุกทาง ทั้งปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ และตะวันตก ประสงค์จะมิให้ไทยมีโอกาสที่จะต่อสู้รักษาบ้านเมืองไว้ได้ จำนวนรี้พลพม่าก็มากกว่าไทยราวห้าต่อสาม แต่ฝ่ายไทยคิดต่อสู้เอาชัยชนะได้โดยยุทธวิธี คือ ปล่อยให้พม่าทำทางอื่นตามชอบใจบ้าง เป็นแต่ขัดตาทัพหน่วงไว้บ้าง รวมกำลังไประดมตีกองทัพหลวงของพม่าซึ่งพระเจ้าปะดุงยกมาเองทางด่านพระดีย์สามองค์ทัพเดียว ครั้นทัพหลวงของพม่าพ่ายแพ้ กองทัพพม่าที่ยกมาทางอื่นก็ถอยหนีไปบ้าง ที่หนีไม่ทันกองทัพไทยก็ตีแตกยับเยินไปหมดทุกทัพ พระเจ้าปะดุงเสียทีไทยไปในคราวที่กล่าวนี้มีความอัปยศอดสู ด้วยยังไม่เคยรบแพ้ใครมาก่อน จึงให้เตรียมกองทัพจะยกมาอีก เห็นว่ากระบวนทัพที่ยกมาหลายทางอย่างครั้งก่อนเอาชัยชนะไทยไม่ได้ ด้วยขัดข้องในการลำเลียงเสบียงอาหาร กองทัพทั้งปวงจึงไม่สามารถจะทุ่มเทเข้ามาให้ถึงที่มุ่งหมายพร้อมกันได้ ในครั้งนี้ คิดจะรวมกำลังยกมาแต่ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางเดียว แลจะทำสงครามเป็นการแรมปี ตีกรุงเทพฯ อย่างเมื่อครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุธยาในคราวหลัง เพราะฉะนั้น พระเจ้าปดุงจึงให้กะเกณฑ์เสบียงอาหารขนมารวบรวมไว้ที่เมืองเมาะตะมะแต่ในฤดูฝนเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ พอถึงฤดูแล้งก็ให้ประชุมทัพที่เมืองเมาะตะมะ ให้ราชบุตรผู้เป็นพระมหาอุปราชาลงมาเป็นนายทัพที่ ๑ มีจำนวนพลห้าหมื่น ยกเข้ามาตั้งในแดนไทยตอนที่ข้ามเขาบรรทัด ให้มาตั้งยุ้งฉางวางเสบียงอาหารรายทาง แลต่อเรือสำหรับกองทัพที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ เมื่อการตระเตรียมพร้อมแล้ว พระเจ้าปะดุงจะยกกองทัพหลวงตามเข้ามา พระมหาอุปราชาจัดกองทัพที่ยกเข้ามาเป็นสามกอง กองที่ ๑ ให้เมียนหวุ่นคุมพลหนึ่งหมื่นห้าพันมาตั้งที่ตำบลท่าดินแดง กองที่ ๒ ให้เมียนเมหวุ่นคุมพลหนึ่งหมื่นห้าพันมาตั้งที่ตำบลสามสบ กองที่ ๓ พระมหาอุปราชาคุมม้าเอง จำนวนพลสองหมื่น มาตั้งอยู่ที่ริมลำน้ำแม่กษัตริย์ ใกล้กับด่านพระเจดีย์สามองค์ เพราะกองทัพพระมหาอุปราชาที่ยกเข้ามาจะต้องทำการอยู่ในแดนข้าศึกนานวัน เกรงว่าไทยจะยกไปตี จึงตั้งค่ายอย่างมั่นคงหลายค่าย แล้วสร้างสะพานข้ามห้วยธารแลทำทางที่จะไปมาถึงกันได้โดยสะดวกทุก ๆ ค่าย
ฝ่ายไทย ครั้นทราบว่า พม่ายกกองทัพเข้ามาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ปลายน้ำไทรโยคดังกล่าวมา ก็คาดความคิดพม่าถูก จึงตกลงกันว่า จะต้องชิงไปตีพม่าเสียให้แตกแต่ที่นั้น อย่าให้ตั้งทำการอยู่ได้ การสงครามจึงจะเบาแรง กองทัพไทยที่ยกไปครั้งนั้นจำนวนพลสี่หมื่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จไปทรงบัญชาการศึกเองทั้งสองพระองค์ เสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงเมืองไทรโยค แล้วยกเป็นกองทัพบกต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปตีค่ายพม่าที่ท่าดินแดง กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปตีค่ายพม่าที่ตำบลสามสบ เข้าตีค่ายพม่าพร้อมกันทั้งสองทัพเมื่อวันพุธ เดือนสี่ ขึ้นห้าค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ รบกันอยู่สามวัน ถึงวันขึ้นเจ็ดค่ำ เพลาบ่าย ไทยแหกค่ายพม่าเข้าไปได้ พม่าต่อสู้อยู่จนพลบค่ำก็พากันทิ้งค่ายแตกหนี กองทัพไทยไล่ติดตามไปถึงค่ายพระมหาอุปราชาที่ตำบลแม่กษัตริย์ พระมหาอุปราชารู้ว่ากองทัพหน้าแตกแล้วก็รีบหนีมิได้รอต่อสู้ ในพงศาวดารพม่าว่า ครั้งนี้กองทัพพม่าแตกยับเยิน ไทยฆ่าฟันพม่าล้มตายมากนัก ที่จับเป็นได้ก็มาก เสียทั้งช้างม้าพาหนะเสบียงอาหารแลเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นอันมาก แลปืนใหญ่นั้นว่าไทยได้ไว้ทั้งหมดไม่เหลือไปสักกระบอกเดียว เรื่องราวการสงครามครั้งรบพม่าที่ท่าดินแดงมีเนื้อความดังกล่าวมา
การแต่งกลอนเพลงยาวนิราศในเวลาไปทัพฤๅไปเที่ยวทางไกลเป็นการที่ชอบแต่งกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ยังมีตัวอย่างปรากฏอยู่ เช่น เพลงยาวนิราศของหม่อมพิมเสน เป็นต้น เหตุใดจึงพอใจแต่งนิราศกัน คิดดูก็พอเห็นได้ ด้วยในเวลาเดินทัพฤๅเวลาเที่ยวที่ต้องไปในเรือหลาย ๆ วัน มีเวลาว่างมาก นั่ง ๆ นอน ๆ ไปจนเบื่อ ก็ต้องหาอะไรทำแก้รำคาญ ผู้มีความรู้ในทางวรรณคดีก็หันเข้าหาการแต่งกลอนแก้รำคาญ จึงชอบแต่งนิราศ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดงก็ด้วยเหตุนั้นเอง พระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีผู้พิมพ์ไว้กับเพลงยาวเรื่องอื่น แล้วพิมพ์ต่อกันมาอีกหลายครั้ง แต่ที่พิมพ์กันนั้นมักวิปลาสคลาดเคลื่อนมาก ซ้ำหลงกันไปว่าเป็นเพลงยาวของเจ้าฟ้าจีดครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย ฉบับซึ่งได้ชำระถูกต้องดีมีแต่ที่ในหอพระสมุดวชิรญาณ เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่า สมควรจะพิมพ์ออกเฉพาะเรื่อง ให้ได้อ่านกันแพร่หลายแลรักษาพระราชนิพนธ์ไว้อย่าให้สูญเสีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น