11 กุมภาพันธ์ 2559

เชิญธงราชนาวีลง! เวลาเท่าไร?


เวลาท่านผ่านหน่วยทหารเรือ อาจสังเกตเห็นธงราชนาวีที่มีสัญลักษณ์ต่างจากที่เคยเห็นบนเสาธงแทนธงชาติ นอกจากนี้บางหน่วยอาจชักธงบนจุดที่ดูเหมือนจะไม่ใช่จุดสูงสุดของเสาธง และบางครั้งหลังเวลา 1800 ไปแล้วก็ยังคงชักธงค้างไว้อยู่ แต่บางวันก็ชักธงลงก่อนเวลา 1800 ก็คงอาจสงสัยกันว่าทำไมทหารเรือจึงมีธรรมเนียมและประเพณีการชักธงที่แปลกไปจากหน่วยงานราชการทั่วไป ทั้งนี้เนื่องมาจากธรรมเนียมและประเพณีของชาวเรือ สืบเนื่องมาจากการชักธงในเรือรบนั่นเอง
... เริ่มต้นจากการใช้ธง เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่สมัยเรือใบว่าเรือเดินทะเลจะต้องชักธงเพื่อแสดงสัญชาติ ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีการทาสีเรือรบเป็นสีหมอก ทำให้อาจแยกแยะระหว่างเรือรบและเรือสินค้าได้ยาก ดังนั้นเรือรบจึงใช้ธงราชนาวีหรือธงทหารเรือ แทนธงชาติเพื่อแสดงสัญชาติและแสดงตัวตนว่าเป็นเรือรบ
... ตำแหน่งของการชักธงราชนาวีบนเรือรบ จะชักขึ้นบนเสากาฟ (Gaff) ซึ่งจะเป็นแขนยื่นออกมาตรงกลางเสาธง ช่วยป้องกันไม่ให้ธงพันเสา โดยถือกันว่าตำแหน่งของเสากาฟจะแยกออกจากเสาธงปกติ และถือว่าเสากาฟเป็นตำแหน่งสำคัญที่สุดของเสาธง ถึงแม้ว่าจะมีส่วนอื่นของเสาธงอยู่สูงกว่าเสากาฟก็ตาม ดังนั้นการชักธงราชนาวีขึ้นบนเสากาฟจึงถือว่าเป็นการชักธงขึ้นบนตำแหน่งสำคัญที่สุดของเสา
... โดยส่วนอื่นของเสาธง ได้แก่ เสาพรวน (Yardarm) ที่ยื่นออกไปด้านข้าง จะใช้สำหรับชักธงทัศนสัญญาณ
..และยอดเสาจะใช้สำหรับชักธงตำแหน่งหรือธงหมายยศของผู้บังคับบัญชาสูงสุด ณ ที่นั้น
...ธรรมเนียมการชักธงราชนาวีขึ้นบนเสากาฟ ได้ถูกนำมาใช้สำหรับหน่วยทหารเรือบนบกด้วย โดยการนำเอาเสาธงแบบเดียวกับเสาธงบนเรือมาใช้ ซึ่งจะประกอบด้วย เสาธง เสากาฟ และเสาพรวน
.. ซึ่งกองทัพเรือไทยได้กำหนดให้หน่วยกำลังรบชักธงราชนาวีขึ้นบนเสากาฟ ส่วนหน่วยสนับสนุนหรือหน่วยอื่นที่ไม่ใช่หน่วยกำลังรบ จะชักธงราชนาวีขึ้นบนยอดเสา
... ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมหน่วยทหารเรือชักธงไม่เหมือนกัน เช่น เสาธงหน้ากองบังคับการ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ชักธงราชนาวีขึ้นบนยอดเสาเนื่องจากเป็นหน่วยสนับสนุนในส่วนยุทธบริการ
.. นอกจากตำแหน่งของการชักธงขึ้นบนเสาแล้ว ธรรมเนียมและประเพณีชาวเรือยังมีเวลาการชักธงขึ้น-ลง ที่แตกต่างออกไป โดยในตอนเช้าจะชักธงขึ้นในเวลา 0800 ส่วนการชักธงลงจะกระทำที่เวลาพระอาทิตย์ตก ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ทำให้อาจดูเหมือนว่ามีเวลาชักธงลงที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้เวลาดวงอาทิตย์ตกจะมีการเปลี่ยนแปลงสำหรับเรือที่กำลังเดินทางในทะเล เช่น เรือที่เดินทางถือเข็มไปทางทิศตะวันออก จะทำให้เวลาดวงอาทิตย์ตกเร็วขึ้นกว่าเดิม ทำให้เรือรบในทะเลจะต้องคำนวณเวลาดวงอาทิตย์ตกจากบรรณสาร Almanac เป็นประจำทุกวัน ต่อมาเป็นเรื่องของการชักธงลงระหว่างเรือรบออกปฏิบัติการในทะเล เป็นธรรมเนียมว่าเรือรบที่ออกปฏิบัติการในทะเลจะชักธงราชนาวีขึ้นบนเสากาฟตลอดเวลาโดยไม่ชักธงลง เพราะถือว่าการชักลงธงคือการยอมแพ้
...ดังนั้นเรือรบในทะเลจะทำพิธีเชิญธงลงในเวลาดวงอาทิตย์ตก แล้วก็ชักธงขึ้นกลับบนเสากาฟดังเดิม
...นอกจากนี้โดยปกติเรือสินค้าเมื่อเดินเรือผ่านเรือรบจะสลุตธง หรือลดธงลงเพื่อแสดงความเคารพ
... แต่เรือรบด้วยกันเองจะไม่เคารพกันด้วยการสลุตธง มีเพียงการให้สัญญาณการทำความเคารพเท่านั้น
... สุดท้ายเป็นเรื่องของการชักธงบนเสาธงท้ายเรือ ที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับธรรมเนียมการชักธงบนเสากาฟ จะปฏิบัติสำหรับเรือรบที่กำลังเดินเรือในทะเลเท่านั้น แต่เรือรบที่กำลังจอด (รวมทั้งเรือรบที่กำลังเตรียมออกเรือหรือเตรียมจอดเรือ) จะไม่ชักธงขึ้นที่เสากาฟ แต่จะชักธงขึ้นที่เสาท้ายเรือแทน ทำให้บางครั้งเราก็เห็นภาพเรือรบชักธงราชนาวีบนเสากาฟ แต่บางครั้งเราก็เห็นภาพเรือรบชักธงราชนาวีบนเสาท้ายเรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น