07 ตุลาคม 2559

ได้อะไร? จากกการเป็นนักเรียนจ่า

 ...พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความปีติยินดี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคมพุทธศักราช 2530
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีหมายกำหนดการจัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในระหว่าง วันที่ 4-7 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 รวมทั้งสิ้น 4 วัน
รัฐบาลสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และประชาชนชาวไทยร่วมกันจัดพระราชพิธีนี้ขึ้น ดังปรากฏเป็นเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
วันที่ 16 ตุลาคม พุทธศักราช 2530
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม




...ชีวิตของเด็กหนุ่มเมื่อปี 2530 หลังมอบตัวทำสัญญากับ ทร.แล้ว ได้เดินทางเข้ามาในรั้ว รร.ชุมพลทหารเรือ เพื่อเข้ารับการฝึกฝนจากกองทัพเรือ ให้พร้อมที่จะเป็นทหารเรืออาชีพ สามารถป้องกันรักษาชาติบ้านเมืองของชาวไทย ให้มีความสงบสุขร่มเย็น ภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นปีอันเป็นมงคลของประเทศ
.. การใช้ชีวิตในรั้ว รร.ทหารชั้นประทวนในส่วนของ ทร.ต้องเป็นผู้มีระเบียบ วินัย มีความกล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน มีความสามัคคีในหมู่คณะ มีความเชื่อฟัง และกระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ทั้งๆที่บ้านเราเป็นประชาธิปไตย แต่ก็คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่า แม้แต่ประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆในโลก ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งหลาย ก็ล้วนแต่มีกองกำลังทหารที่ต้องฟังคำสั่ง ทำตามระเบียบวินัยทั้งสิ้น ไม่เคยเห็นว่ากำลังทหารชาติใหญ่ๆ ที่จะมีความอิสระเสรีที่จะทำอะไรๆก็ได้ตามใจตัวเองเลย! ล้วนแต่ถูกฝึกมาอย่างหนักแทบเป็นแทบตายเพื่อให้กระทำตามผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น ยิ่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ยิ่งฝึกหนักเกินคนทั้งนั้น ไม่เคยเห็นว่า มีทหารชาติใดจะฝึกแล้วทหารมีแต่ความกลัว เช่น กลัวเจ็บ กลัวตาย กลัวเสียงปืน หากเป็นเช่นนั้น ทหารก็จะไม่ต่างจากพลเรือนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่เสี่ยงต่อชีวิตได้เลย ดังนั้นประเทศชาติ ก็จะขาดผู้ปกป้องบ้านเมืองที่ห้าวหาญ
... เมื่อเด็กหนุ่มๆอายุ 18-20 ปี สะพายข้าวของที่ตนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันเข้ามาใน รร.ชุมพลฯ ในปี 2530 จำนวน1,000 กว่าคน คำนำหน้าที่ใช้ว่า "นาย" ก็เปลี่ยนเป็น "นักเรียนจ่า ..." หมายถึงว่า ตลอดเวลาที่เรียนในรั้ว รร.ทหาร ไม่ว่าเราจะถูกเรียกขาน หรือ จะรายงานตัว จะไม่มีคำว่า"นาย"นำหน้าชื่อ อีกต่อไป. การเข้ามาใช้ชีวิตใน รร.ชุมพลฯ 1 เดือนแรก ทุกพรรคเหล่าของนักเรียนจ่าทั้งหมด ต่างนอนตาม "ตอน" หมายถึง "หมู่"ในกองทัพบก และรวมหลายตอน จะเป็น "ภาค" เหมือนกับ "กองร้อย" และ รวมภาคที่เป็นเลขคี่ เป็น "กราบขวา" เลขคู่ เป็น "กราบซ้าย" ทำให้ นรจ.ทุกพรรคเหล่า ได้พบปะคุ้นเคยกัน อย่างน้อยก็มีเรื่องเล่าเป็นประสบการณ์ได้อย่างฝังใจ เช่น ครูชลธิป ควดเสด็จ(คือ นรจ.30 จะต้องจำนายทหารฝึก ที่เป็น นายทหารจบใหม่จาก นักเรียนนายเรือเข้ามาเป็นนายทหารปกครองก่อนจะออกไปบรรจุเป็นนายทหารประจำหน่วยต่างๆ นรจ.และ นนร. จึงมีความใกล้ชิดกันเพราะถึงแม้ท่านจะเติบโตเป็นระดับผบ.ทร. แต่ท่านจะถูกเรียกว่า "ครู" ไปตลอดวันตาย จาก นรจ.ที่ท่านฝึกฝนมา)
.. วันที่เข้ามาถึง รร.ชุมพลฯ เมื่อแยกย้ายไปถึง ภาค ถึง ตอน ที่พักแล้ว ต่างก็เข้าเก็บข้าวของ ในตู้ เตียง ที่นอนของตน ได้รับแจกอุปกรณ์เครื่องนอน และเสื้อผ้า ชุดใส่ฝึก ชุดกีฬา หมวก รองเท้า ถุงเท้า ฯลฯ  รีบเก็บของจัดของ เตรียมตัวรับคำสั่งต่างๆแบบ "ทหาร" คือ .. เด็ดขาด! แต่ ไม่แน่นอน! เพราะมีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เสมอๆ ความกดดันเริ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นๆ ซ้ายหัน ขวาหัน หน้าเดิน ฯลฯ หยุด! ไม่พร้อมกัน... ทุกคน! เตรียมตัววิดพื้น! คราวนี้ ตามภาคต่างๆก็มี ผู้รับผิดชอบ แล้วแต่ใครจะหนักกว่า เบากว่า ก็ว่ากันไป เพราะการที่วัยรุ่นชาย มาอยู่รวมกันมากๆ เรื่องก็ย่อมมาก หากผู้ปกครอง ไม่เอาระเบียบมาคุม ขยะคงจะเกลื่อน โรงนอนรก เลอะ เละเทะ! เด็กก็คงมั่ว ไม่ต้องทำอะไรกัน! การฝึกเช่นนี้ คนภายนอกเข้าใจว่าโหดร้าย! แต่ถ้าให้มาคุมเองแล้วจะรู้!
... เช้าขึ้นมา ต้องตื่นเป็นเวลา! เพื่อฝึกให้รักษาเวลา และรู้จักเวลา ทำงานให้เป็นระบบ มีระเบียบ มีความพร้อมเพรียงในหมู่คณะ ตื่นมาก็วิ่งออกกำลังกาย ให้ร่างกายมีเรียวแรง กลับมาก็อาบน้ำแต่งตัวไปกินข้าว แต่ไม่ว่าจะเป็นการนอน การตื่น การอาบน้ำ การกิน ทุกอย่างถูกฝึกอย่างทหาร? มันต่างกันอย่างไร?
ต่างแน่นอน... กลางคืนมีเวรยาม ต้องลุกขึ้นตามหน้าที่ แม้ไม่ได้เข้ายาม บางเวลาต้องถูกปลุกกลางดึก ที่ไม่ใช่เวลาฝึก แต่เพราะว่า ทหารในยามสงคราม เหตุฉุกเฉินย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ถ้าไม่ฝึกให้ถูกปลุกขึ้นมาก่อนคงจะต้องฝึกในเหตุการณ์จริง เราคงไม่เหลือชีวิตแน่! เช่นเหตุการณ์ใน 3 จว.ชายแดนใต้ จะนอนอยู่ เขาก็ยิงได้ จะกินอยู่เขาก็ระเบิดได้ จะอาบน้ำอยู่เขาก็จู่โจมมาได้ หาก นรจ. ไม่ได้รับการฝึกฝนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์จริงแล้ว เราเองที่จะไม่มีโอกาสแก้ตัวในยามศึก ดังนั้น นายทหารฝึกจึงต้องสร้างความกดดันนี้ให้เราได้รู้จัก เมื่อเราต้องพบกับความกดดันทดสอบบ่อยๆ เราจะเริ่มปรับตัว และรู้จักแก้ไขปัญหา หลายคนภายนอกไม่เข้าใจปัญหานี้ ก็ว่า ทหารฝึกโหดร้ายรุนแรง แต่จริงๆแล้ว ฝึกนั้นมันคงไม่ตายเหมือนเจอกระสุนจริงของศัตรู เราเป็น นรจ.ในวันนั้นยังไม่เข้าใจว่า ทำไม? อาบน้ำให้เวลา 5 นาที ตอนนี้หมดไปแล้ว 3 นาที ไปได้! อาบได้ 2 ขัน ครูนับถอยหลัง 10...9...8... ! โอ้ย!!!!!! มันไวแท้!!!! กินข้าว 2-3 คำ ก็ ...หยุด! ทุกคนขัดฉาก! มุดโต๊ะ! เลิกกิน! ฟังเรียกแถว! มาเข้าใจตอนทำงานว่า งานภาระกิจที่เกี่ยวกับชีวิต มันด่วน!มาก! จะกินต่อยังไง? จะนอนต่อ! ยังไงได้?
... การเรียนวิชาการเรือ ไม่เหมือนในชีวิตที่เคยมีมา เพราะ ภาษา-คำเฉพาะ มีที่เราต้องรู้จักและทำความเข้าใจมากมาย เช่น หะเบส-หะเรีย, ต๋ง (ชักขึ้น-ชักลง, ผูก) เป็นต้น การผูกเชือกมัดเรือ เงื่อนต่างๆ ต้องทราบ และทำให้เป็น ทำให้ถูก เพราะเวลาอยู่ในทะเล คลื่นลมแรง ยืนก็แทบไม่ติด การใช้เชือกคล้องสิ่งต่างๆ ต้องแน่นและรวดเร็ว, นกหวีดเรือ ต่างจากนกหวีดทั่วไปเพราะสามารถเป่าเป็นเพลง เป็นจังหวะได้ เสียงดังแหลมไปได้ไกลฝ่าเสียงคลื่นเสียงลมได้เป็นอย่างดี ผู้มีประสบการณ์อยู่ในเรือรบจะทราบว่าแม้เรือจะมีเครื่องขยายเสียงและวิทยุสื่อสาร แต่สู้เสียงนกหวีดเรือไม่ได้ เป่าขึ้นมาจำเพลงได้ว่า นี่มีประกาศ มีแถว มีเคารพธงขึ้น-ลง มีกิน มีนอน มีปลุกตื่น แต่ที่สำคัญคือ เวลาให้ดึงเรือเล็กขึ้นหรือลง หรือจะดึงสิ่งของใดๆก็ตาม เสียงนกหวีดเรือมีประสิทธิภาพมากกว่าเสียงคนแน่นอน!
... เข้ามาเป็นทหารเรือ คำว่า"กะลาสี" ก็เริ่มมีความคุ้นเคยมากขึ้น เพราะเราทุกนาย จะต้องแต่งกายในชุดกะลาสี มีหมวกคล้ายเข่งปลาทู มีปกเสื้อใหญ่ ไม่มีกระดุมเสื้อ มีคอเสื้อรูปตัว V มีผ้าผูกคอดำผูกด้วยผ้ารัดเป็นแถบสีขาวเป็นโบว์ และต้องผูกเป็นหูกระต่าย ให้เรียบร้อยทุกครั้ง แขนเสื้อกะลาสี ชุดสีน้ำตาลกากีเป็นแขนสามส่วนยาวแค่คลุมข้อศอก แต่ชุดขาว และชุดบลู(ใช้เฉพาะออกงานในฤดูหนาว)เป็นแขนยาวติดกระดุมที่ข้อมือ เอวเสื้อเป็นเอวลอย ปิดสะดือลงมาหน่อยประมาณฝ่ามือ เสื้อในเป็นเสื้อน๊อต แขนสั้น คอเว้าเท่ากันทั้นหน้า-หลัง มีขอบสีน้ำเงิน กางเกงกะลาสีไม่มีซิปที่เป้ากางเกง มีแต่กระดุมติดไว้ 2 ข้างในการปลด-สวม ขากางเกงต้องบานคลุมรองเท้าหนังสีดำคลุมหุ้มปิดตาตุ่ม... เป็นธรรมเนียมที่ทหารระดับจ่าและพลทหารต้องสวมใส่ นรจ.ก็ต้องแต่งจนชิน...

... เป็นนักเรียนทหาร จบแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหาร ในสังกัดกระทรวงกลาโหม มียศ มีตำแหน่ง มีเงินเดือน มีสวัสดิการ สิ่งที่ รร.ชุมพลฯ สอนคือ เรื่องการทหาร เราต้องรู้จักว่า ความหมายของคำว่าทหารคืออะไร? ทหารตามรากศัพท์ คือผู้มีหน้าที่ทำการรบ, นักรบ นี่คือคำจำกัดความทั่วไป
...หน้าที่ของทหาร (ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 77) มีดังนี้ “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
... พอเข้ามาเรียนเราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของข้าราชการกระทรวงกลาโหมแล้ว ต้องใช้อาวุธเป็น คือต้องยิงปืนยาวเป็นอาวุธประจำกาย มีอาวุธในเรืออีกหลายอย่างที่เราต้องควบคุมดูแล ศักยภาพของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นเรือรบที่สามารถแล่นได้ไว อย่างน้อยก็ให้ทันต่อการหลบหลีกวิถีกระสุนของข้าศึกให้ทันก่อนก็ยังดี ขณะพวกเราฝึกเป็นนรจ. ยังไม่เข้าใจถึงงบประมาณหลวงที่นำมาใช้ในการฝึกเท่าไรนัก เพราะมีหน้าที่เพียงฝึกให้ได้เท่านั้น เหนื่อยแสนเหนื่อยขณะนั้น คิดอะไรไม่ออก พอเติบโตมาจึงพอทราบได้ถึงค่าใช้จ่ายที่เราใช้ภาษีของราษฎร ว่าก็เยอะน่าดูแฮะ! แค่ค่ากินก็คนละเท่าไร? คูณพันเข้าไป ค่าเครื่องใช้ไม้สอยอีก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายของกองทัพต้องจัดสรรหามาจ่าย แล้วต่อมาก็ค่ากระสุนที่ยิง ค่าอาวุธปืน ค่าน้ำมันเรือ น้ำมันรถ ต้องหามาจ่ายทั้งนั้น เรานักเรียนทหารมีหน้าที่เรียน, ฝึกฝน ใช้ให้เป็น ใช้ให้คุ้มค่า เช่น ยิงปืน 1 ลูก ตามคำพังเพยว่า ได้นก 2 ตัว นั่นแหละจึงจะคุ้ม แต่ก็ต้องขอโทษเถอะ กว่าจะแม่นปานนั้น หมดกระสุนจริงไปเท่าไรแล้ว? แต่นักวิชาการ กลัวเกินเหตุ จะใช้งบไม่มีประสิทธิภาพ ขอตัดแบ่งลงไปทำอย่างอื่น ก็ว่ากันไป??? นักเรียนทหาร ถูกฝึกยิงต้องใช้กระสุนจริงจึงจะคุ้นเคย พอออกหน้าที่ก็พร้อม! เราถูกฝึกมาให้มีสภาพร่างกายเข้มแข็ง พร้อมต่อสถานการณ์จริงคือการรบต้องแบกอาวุธไหว? แบกร่างเพื่อน หรือผู้บาดเจ็บไหว ไม่ใช่พากันไปตายเปล่า เพราะเดินแบก 2 ก้าวหมดแรงแล้ว ข้าศึกก็ได้ทีปราบเราได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้น นรจ.จะต้องอดทน ฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา เพราะเวลาบุกมันจะได้เป็นไปตามขั้นตอน สำคัญมากในการรบ จะยิงไปตามใจตัวเอง ทุกคน มันจะเหลว ขนาดงานอื่นเขายังมีขั้นตอน งานที่เอาชีวิตไปเสี่ยงกับกระสุน-ระเบิด มันก็ต้องฟังคนออกคำสั่งจึงจะสำเร็จ เรือรบ มีขนาดใหญ่ ผบ.เรือ ต้องควบคุมและสั่งการ ออกคำสั่งผ่านตามสายงานจนถึงพลทหาร เรือควรแล่นช้าแล่นเร็ว แล่นไปทางซ้ายทางขวา มีเขตไหนเสี่ยงอันตรายควรระมัดระวัง สิ่งนี้ ผบ.เรือจะตัดสินใจ โดยมีต้นหลช่วยรับผิดชอบ เครื่องเรือ, ไฟฟ้าในเรือ ต้นกลช่วย, อาวุธต่างๆ ต้นปืนเป็นผู้ช่วยในการควบคุมดูแล กว่าจะออกคำสั่งถึงกะลาสี ให้ใส่ลูกปืน เตรียมหันกระบอกปืน ตั้งมุม ตั้งองศาปืน คำสั่งจะถูกถ่ายทอดลงมาเรื่อยๆตามขั้นตอน เมื่อยิงแล้วตรวจเป้า รายงานกลับ ก็รายงานจากกะลาสี ขึ้นไปๆ จนถึง ผบ.เรือ ท่านก็จะตัดสินใจและออกคำสั่งอีก เช่นนี้ตลอดจนภาระกิจลุล่วง หรือเสร็จสิ้นภาระกิจ เราถูกฝึกมาก็เป็นเช่นนั้น เราเป็นนักเรียนจ่า เวลารายงานขึ้นไปก็แจ้งหัวหน้าตอน ผ่านไปที่จ่าประจำตอน นายตอนประจำภาค ถึงนายทหารปกครองประจำกราบ ถึงนายกราบ ถึงผบ.รร. เป็นต้น การออกคำสั่งและรับฟังคำสั่งจึงจำเป็นต่อระบบทหาร และรุ่นพี่ถึงแม้จะควด จะซ่อม จะทำโทษรุ่นน้องอย่างหนัก เพื่อให้รู้จักการฟังคำสั่ง พอทำโทษไปแล้วมักจะขู่สำทับให้ทหารมีความเคารพในรุ่นพี่รุ่นน้องว่า"ยศ..มันแซงกันได้ แต่ รุ่น.. มันแซงกันไม่ได้!"
... การปลูกฝังจิตสำนึกในหน้าที่ของนรจ. ไม่ว่าจะเป็นการเรียกแถว นรจ.จะขานรับว่า "เรือ" เวลาเดินแถว, วิ่งออกกำลังกาย ก็ร้องเพลงปลุกใจในกองทัพมาใช้ร้อง จนนรจ.สามารถจำคำสอนต่างๆได้ตามเนื้อเพลง เช่น "แต่รบ.. เราไม่ขลาด  ราชนาวีชาติไทย เราใจทหารเรือกล้าหาญฯ" เวลาชักธงขึ้นตอนเช้าแล้วก่อนชักธงกราฟลง จะกล่าวคำ"ตายในสนามรบ.. เป็นเกียรติของทหาร" หลังแถวตรวจพลเช้า ส่งยอดแล้ว จะกล่าว"ตายเสียดีกว่า จะละทิ้งหน้าที่" ยามจะรับประทานอาหารทุกมื้อ " เรากินเพื่ออยู่ เราต่อสู้เพื่อการศึกษา" เช่นนี้เป็นต้น เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ทุกนายรู้จักหน้าที่ของตน พร้อมจะเสียสละหยาดเหงื่อ แรงกาย และชีวิต ให้แก่ชาติ เป็น ราชพลี การอบรมเช่นนี้เราปลูกฝังที่จะไม่ทำการรุกรานใคร ให้ทำหน้าที่ปกป้อง ดูแล อธิปไตยของชาติเป็นหลัก เพราะเป็นทหารต้องรู้จักคำว่า "ยามศึกเรารบ ยามสงบเราพร้อม" แม้ประเทศไทยมิได้กระทำสงครามทางเรือมานาน แต่หากปล่อยปละละเลย ไม่เตรียมการณ์ใดๆไว้ ยามมีภัยขึ้นมา มักไม่สามารถกำหนดเวลาได้อย่างชัดเจน จึงต้องพร้อมอยู่เสมอ
...นักเรียนจ่า ในหลักสูตรที่เราเรียนคือ นักเรียนจ่าทหารเรือ พรรคพิเศษ เหล่าช่างยุทธโยธา(ไฟฟ้า)รุ่น 30 (ปีพ.ศ.2530) ใช้คำย่อว่า นรจ.ฟฟ.30 มีระยะเวลาในการศึกษาตามหลักสูตรเป็นเวลา 2ปี โดยในเดือนแรกเข้ารับการฝึกร่วมกันทุกพรรคเหล่า ณ รร.ชุมพลทหารเรือ สัตหีบ จ.ชลบุรี แล้วจึงแยกย้ายเข้า รร.ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ กรมอู่ทหารเรือ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ เรียนและฝึกฝน อาศัยชีวิตร่วมกับเหล่าสื่อสารทหารเรือ เราทุกนายที่เป็นนักเรียนจ่า ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน กินนอนอยู่ในรั้ว รร.ทหาร ไม่ว่าจะกิน ก็กินด้วยกัน พร้อมกันในโรงอาหาร ไม่ว่าจะหิวหรือไม่? ถึงเวลา 0700,1200 และ 1700 ก็ต้องเข้าแถวหน้าโรงอาหารอย่างเป็นระเบียบ ถึงเวลานอน 2100 ในตอนนอน ไฟก็จะถูกดับทั้งหมด เวลา 0530 เสียงนกหวีดปลุก ก็ดังขึ้นทุกวัน ตั้งแถววิ่งออกกำลังกาย แล้วกิจกรรมการเรียนต่างๆ ก็เริ่มขึ้น เป็นชั้น 1 หรือ นร.ปี 1 ก็ต้องเหนื่อยมากหน่อย เพราะเวลา 0800 เชิญธงขึ้นแล้ว เป็นเวลาที่ต้องเอาเหงื่อออก ก่อน 0830 จึงจะเรียกแถวส่งกำลังพล แล้วจึงแยกย้ายไปเข้าห้องเรียน 1200 แดดร้อนๆก่อนกินข้าว ถนนพื้นยางมะตอยเอามือวางเตรียมในท่ายึดพื้น ฟังการอบรม!!! ถ้าระเบียบวินัยดี ก็น้อยหน่อย ถ้าหย่อนไป ไม่ต้องพูดเลย ฟังคำสั่งอย่างเดียวแล้วทำตามเท่านั้น! 2000 เช็คยอดกำลังพล ก็ยาวเลยคราวนี้ เหงื่อเต็มตัวก่อนนอน เราจึงเข้าใจชีวิตของการอาบเหงื่อต่างน้ำได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออก นรจ.ไม่ใช่น้ำตาลทราย พอโดนแดดโดนฝนแล้วจะได้ละลาย! มาถึงตอนนี้รู้แล้วว่า ฝนจะตกแดดจะออกโจรหรือข้าศึกเข้ากราดยิงเราได้ตลอดแหละ! แต่ตอนนั้นมันสุดแสนจะทรมานเหลือเกิน นี่ขนาดไม่ได้เรียนมนุษย์กบ หรือหน่วยรบพิเศษ ยังขนาดนี้! ถ้าไปเรียนจะขนาดไหนหว่า? เพราะพวกรบพิเศษเขาต้องทำงานแค่ไม่กี่คนสามารรบคนทั้งกองร้อยได้ ความอดทนอย่างน้อยก็ต้องมากกว่าเป็นสิบเท่าละ! ต้องผ่านการอดนอน อดกิน โดนทรมาน เหมือนถูกข้าศึกจับได้ต้องทรมานเอาความลับต่างๆ ถ้าคนไม่เคยฝึกคงจะบอกก่อนเพื่อให้เขาปล่อยตัวแน่ๆ เราเป็น นรจ. ก็ฝึกแค่ระเบียบวินัยแะความอดทนระดับต้นๆเท่านั้น เท่านี้ก็ทำให้เราเหมือนโดนหล่อหลอม โดยมีเหงื่อเป็นน้ำยาประสานใจของเพื่อนร่วมรุ่นเอาไว้ตลอดไปอย่างไม่มีวันลืม
... แม้ภัยสงครามทางทะเลจะไม่มีปรากฏให้เห็น แต่ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยจากการล่วงล้ำดินแดนทางทะเล ภัยจากการปล้นเรือสินค้า เรือประมงต่างๆ ก็ยังมีให้พบเห็นอยู่เสมอ กำลังพลกองทัพเรือส่วนที่เป็น นรจ.ล้วนแต่ต้องเตรียมการ เตรียมความพร้อม ในการฝึกฝนวิชาชีพตามพรรคเหล่าของตนอยู่ ให้เกิดความชำนาญและมีประสิทธิภาพ การฝึกกำลังรบยังจำเป็น อาวุธที่มีประสิทธิภาพยังต้องจัดหา เพื่อให้เราสามารถปฏิบัติภาระกิจป้องกันประเทศอย่างทันท่วงที ไม่ใช่วัวหายแล้วจึงมาคิดล้อมคอก นักเรียนจ่าทหารเรือได้สร้างให้เรา เป็นผู้มีระเบียบวินัย เพราะฝึกอยู่ประจำทุกวัน มีความอดทน เพราะผู้ปกครองบังคับบัญชาฝึกความกดดัน กับปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเรื่องการทำโทษ บังคับให้กระทำในหลายๆเรื่อง เช่น โดดน้ำคลำ ลุยขี้โคลน มุดโต๊ะ คลานต่ำ คลานสูง กลิ้งม้วนหน้า แถกปลาหมอ ต่างๆเหล่านี้ ถ้าเราไม่อดทนทำ ยามมีเหตุฉุกเฉินจริงๆ อย่าว่าแต่โดดน้ำเลย รับรองว่ามุดส้วมเพื่อรักษาชีวิตหลบระเบิด เราก็ต้องทำได้ สิ่งที่ได้สร้างความกดดันให้เราต้องเผชิญก่อนนั้น ทำให้เมื่ออยู่ในสนามรบแล้วจะสามารถทำงานตามภาระกิจได้แน่นอน ยามเมื่อเราจบมาแล้วจึงทราบคุณค่า ที่เราสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้เป็นอย่างดี มีสติสามารถกระทำงานได้หลายหน้าที่ในเวลาอันสั้นๆ ซึ่งหากเราไม่เคยผ่านความกดดันนี้มา เราคงไม่มีความกล้าตัดสินใจทำอะไรๆได้ดีเช่นนี้ เมื่อเราถูกฝึกมาแล้วยามไม่มีศึก เราต้องหมั่นซ้อมกับอาวุธจริงอยู่เสมอๆ ไม่ใช่จะมาออกฝึกในสนามรบจริง อย่างที่หลายคนเสียดายงบประมาณ เราจึงภูมิใจที่ถูกฝึกมาให้กล้าหาญ มีวินัย
....เรา นรจ. 30 ยังมีโอกาสได้พายเรือราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินในพิธีนี้ เป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้จริงๆ



ลองมาดูระเบียบวินัยของทหารว่า มีความสำคัญอย่างไรต่อผู้บริหารกองทัพ แม้ว่าจะดูโหดร้ายแต่ในยามสงครามการตายย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น