24 พฤศจิกายน 2556

แข่งขัน "ม้าโรมัน" กีฬาทหารเรือ

... "ม้าโรมัน" จำลองแบบจากรถศึกในสมัยโบราณ 
โดยใช้อุปกรณ์ที่ประกอบเครื่องแต่งกายของพลประจำเรือ 
คือ ผ้าผูกคอดำ และแส้ไล่ยุง
มีผู้เล่นข้างละ 6 คน โดยที่ 5 คนเป็นฐาน 
มีห่วงผ้าผูกคอดำนำมาต่อกันทำเป็นบังเหียนม้า 
และมีผู้เล่นอีก 1 คน เป็นโคบาล ยืนคร่อมอยู่ด้านบน 
มือหนึ่งจับบังเหียน อีกมือหนึ่งถือแส้ชูไว้เหนือศีรษะ 
วิ่งเข้าสู่เส้นชัย เป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ทั้งความพยายาม 
และ ความพร้อมเพรียงของการวิ่งอย่างสูง
เป็นกีฬาที่ ไม่มีให้เห็นในทีอื่น...
"ม้าโรมัน" กีฬาราชนาวี

แข่งขัน "อุ้มหมูใส่เล้า" กีฬาทหารเรือ

-- ไม่น่าซ้ำกับใครๆ กับกีฬาในหน่วยทหารกองทัพเรือไทย --
การกีฬาชนิดนี้ ถ้าไม่ได้เล่น ไม่ได้เชียร์ คงไม่ทราบกติกา จะขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้
"อุ้มหมูใส่เล้า" ดัดแปลงมาจากการลำเลียงลูกปืนใหญ่ในเรือ 
หลักการรบในอดีตใครยิงได้ก่อน ยิงได้เร็ว และแม่นยำ ย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ 
ดังนั้น พลปืนจะต้องมีร่าง กายที่แข็งแรง สุขภาพดี มีความคล่องตัว 
และมีความเคยชินกับการลำเลียงลูกปืนอยู่เป็นประจำ
กีฬาประเภทนี้จึงดัดแปลงมาจากการอุ้มลูกปืน 
ในอดีตจะแข่งขันกันบนเรือรบโดยใช้อุปกรณ์เป็นลูกปืนลำเลียงไปยังแท่นปืน 
ทีมไหนลำเลียงเสร็จก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ 
แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนการแข่งขันจากเรือมาเป็นบนบก 
จึงเปลี่ยนจากอุ้มลูกปืน มาเป็นอุ้มคนแทน
โดยใช้ผู้เล่นทีมละ 5 คน เป็นหมู 4 คน และเป็นคนอุ้ม 1 คน 
ใครอุ้มเสร็จก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ
แล้วการอุ้มน่ะ... ต้องอุ้มให้ได้เหมือนกับรูปนี้แหละ..
ภาพการแข่งขันกีฬา"อุ้มหมูใส่เล้า" กีฬาราชนาวี

ธงราชนาวี

...ประเทศไทยเรามีธงราชนาวีมาตั้งแต่โบราณกาล ธงราชนาวีธงแรกที่มีขึ้นในประเทศไทยนั้น คือ ธงสีแดง และใช้เป็นเครื่องหมาย ของธงราชนาวีตลอดมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำริว่า บรรดาเรือหลวงกับเรือราษฎร์ ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นแตกต่างกัน เพื่อจะได้สังเกตว่าลำไหนเป็นเรือหลวง ลำไหนเป็นเรือราษฎร์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งให้เรือหลวงทั้งปวง ทำรูปจักรสีขาวไว้ตรงกลางพื้นสีแดง เป็นธงราชนาวี ซึ่งใช้เป็นธงประจำเรือหลวง ส่วนเรือราษฎร์นั้นยังคงใช้ธงพื้นสีแดง
พ.ศ. 2360 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ ทรงได้ช้างเผือกมาสู่ พระราชอาณาจักร ถึง 3 เชือก นับว่าเป็นพระเกียรติยศอย่างยิ่งของพระมหากษัตริย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาว (ไม่ทรงเครื่อง) อยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้ที่กลางธงแดง หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดิน อันมีช้างเผือกเป็นธงราชนาวี ใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น



ธงราชนาวีเมื่อแรกที่ใช้เป็นธงสีแดง
ธงราชนาวีที่ใช้เป็นธงประจำเรือหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๑

ธงราชนาวีที่ใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ซึ่งใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น


พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมี พระราชดำริให้เรือค้าขาย ของเอกชน ใช้ธงเหมือนอย่างเรือหลวง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอารูปจักรออก (เพราะรูปจักร เป็นของสูง เป็นเครื่องหมายสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน) คงเหลือแต่รูปช้างสีขาวอยู่บนพื้นธงสีแดง ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือราษฎร์




ธงชนิดนี้ใช้ได้ทั้งเรือหลวงและเรือราษฎร์
ธงที่ใช้ใน พ.ศ.๒๔๓๔

ธงที่ใช้ใน พ.ศ.๒๔๔๐

พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ ว่าด้วย แบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) ขึ้นเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับแรก (ได้ทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไข รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะธงจากเดิมไปบ้าง) ได้เรียกชื่อธงราชนาวีใหม่ว่า“ธงช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่น” ลักษณะของธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงตรงกลางธง มีรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าหาเสาและตรงมุมธงเบื้องบน ด้านซ้าย มีจักรสีขาว 1 จักร ธงนี้สำหรับใช้ชักที่ท้ายเรือพระที่นั่งและเรือรบหลวง
พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชบัญญัติธงฉบับแรกใหม่ และเรียกพระราชบัญญัติธงฉบับนี้ว่า “พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ ศก 116” และเปลี่ยนชื่อธงจากชื่อ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น เป็น ธงเรือหลวง ลักษณะของธงยังเหมือนเดิม แต่ไม่มีจักรสีขาวที่มุมธงธงราชนาวี
พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนแปลง ธงราชนาวี ไปจากเดิม คือ เปลี่ยนชื่อจาก ธงเรือหลวง เป็น ธงทหารเรือ และเปลี่ยนลักษณะ รูปร่างจากพื้นแดงตรงกลางมีรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่นเพิ่มเครื่องหมาย สมอไขว้ กับจักรภายใต้มหาพิชัยมงกุฎสีเหลือง ที่มุมธงข้างหน้าช้างสำหรับใช้ชักที่ท้ายเรือ และสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าเรือและสถานที่นั้นๆ ขึ้นอยู่กับ กระทรวงทหารเรือ
พ.ศ. 2460 ได้มี การเปลี่ยนแปลงธงราชนาวีใหม่คือ เปลี่ยนจาก "ธงทหารเรือ" เป็น "ธงราชนาวี" มีลักษณะเหมือนธงไตรรงค์ แต่ตรงกลาง มีวงกลมสีแดง ภายในวงกลม มีรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าหาเสา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติธงอีกหลายครั้งด้วยกัน แต่ธงราชนาวี ก็มิได้ มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงใช้ อย่างเดิมนั่นเอง



ธงทหารเรือที่ใช้ในพ.ศ.๒๔๕๓
ธงราชนาวีที่ใช้ในปัจจุบัน
ธงราชนาวีบนยอดเสาธง ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์
พระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ

วิวัฒนาการของรูปแบบธงราชนาวี หรือธงทหารเรือ

ภาพแถวหน้า รร.ฟฟ.อล.

ภาพสะท้อนอดีต
ขอยืมภาพของรุ่นน้องๆ มาสะท้อนให้เห็น หรือหวนระลึกถึง เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
คือเมื่อปี 2530-32 เราเคยอยู่ร่วมกัน ใช้ชีวิตการยืนหน้าโรงเรียนฯ ก่อนเข้าห้องเรียนทุกวัน
ณ วันนั้น นอ. เสมอ สุวรรณฤทธิ์ (ยศในสมัยนั้น)ท่านเป็น ผอ.รร.ฟฟ.อล. ขึ้นตรงกับ กรมอู่ทหารเรือ
เราร่วมกันกอดคอพุ่งหลัง ลุกนั่ง ยึดพื้น (คือการทำโทษของฝ่ายปกครอง)
เมื่อเวลาล่วงเลยไป ป้อมพระจุลฯ เป็นความหลังในสมัยที่เรามีเรี่ยวแรงพละกำลัง
เป็นวัยหนุ่ม ที่กำลังฉกาจฉกรรจ์ เป็นกำลังของกองทัพฯ
ปัจจุบัน คงเหลือแต่ความทรงจำ ให้หวนระลึกถึงเพียงอย่างเดียว...

13 พฤศจิกายน 2556

สีที่ใช้กับชุดกะลาสีไทย

... ในส่วนของสี ชุดกะลาสีที่เป็นสากลส่วนมากจะใช้ผ้าสีน้ำเงินดำสำหรับหน้าหนาวและผ้าสีขาวสำหรับหน้าร้อน แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การใช้ชุดสีน้ำเงินดำคงจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศเท่าไหร่ แต่การใช้ชุดสีขาวในการปฏิบัติงานปกติก็ดูจะเปื้อนง่ายจนเกินไป ทร.ไทยจึงใช้ชุดกะลาสีผ้าสีขาวสำหรับงานพิธีการเท่านั้น และได้ประยุกต์ใช้ชุดกะลาสีผ้าสีกากีสำหรับการปฏิบัติงานทั่วไป ซึ่งผ้าสีกากีเป็นผ้าสีเดียวกับชุดเครื่องแบบสำหรับชุดนายทหารสัญญาบัติและพันจ่า ช่วยให้ไม่เป็นการสิ้นเปลือง โดยสีกากีมาจากภาษาฮินดีและภาษาอูรดู แปลว่าสีดินหรือสีฝุ่น ซึ่งทหารอังกฤษในอินเดียใช้เป็นสีย้อมเครื่องแบบเพื่อให้เข้ากับเสื้อผ้าของชาวพื้นเมืองในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 สมัยอังกฤษปกครองอินเดีย และได้กลายเป็นสียอดนิยมสำหรับชุดเครื่องแบบเมืองร้อน (และเครื่องแบบหน้าร้อนสำหรับเมืองหนาว) ในเวลาต่อมา เนื่องจากเป็นสีที่เปื้อนยากและไม่ร้อนนั่นเอง

กางเกงกะลาสี ไม่มีซิป

... ในส่วนของกางเกง เป็นกางเกงปลายขากว้างไม่มีซิป แต่ใช้ติดกระดุมและมีเชือกผูกแทน โดยกระดุมจะอยู่ทางด้านข้างของกางเกง ซึ่งทำให้เข้าห้องน้ำลำบากพอสมควร ซึ่งสมัยนี้อาจจะเปลี่ยนเป็นซิปกันไปแล้ว หรือบางคนก็ทำเป็นซิปซ่อนไว้ใต้กระดุมเพื่อรักษาธรรมเนียมปฏิบัติเดิมอยู่ แต่ทำไมต้องเป็นกระดุม? (และทำไมต้องเป็นกระดุมข้าง?) การที่กางเกงกะลาสีเป็นกระดุมและมีขากว้างก็เพื่อให้สามารถถอดกางเกงได้ง่ายเวลาตกน้ำโดยไม่ต้องถอดรองเท้า (ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหลังจากขึ้นจากน้ำได้) โดยเชือกและกระดุมสามารถปลดเพื่อถอดกางเกงได้ง่ายเวลาเปียกน้ำ ในขณะที่ซิปอาจเกิดติดขัดได้เมื่อเปียกน้ำ และกางเกงที่ถอดออกมาสามารถนำมาผูกขาและตีลมเข้าไป (คล้ายๆ ตีโป่งผ้าเปียก) เพื่อใช้เป็นชูชีพฉุกเฉินได้ เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีเสื้อชูชีพสำหรับผู้ปฏิบัติงานบนดาดฟ้าซึ่งอาจจะตกน้ำไปได้ และการฝึกใช้กางเกงเพื่อทำเป็นชูชีพฉุกเฉินยังคงมีอยู่ในกองทัพเรือชาติตะวันตกหลายประเทศ ส่วนตำแหน่งของกระดุมซึ่งอยู่ด้านข้างก็เพื่อให้ไม่ประเจิดประเจ้อในกรณีที่กระดุมหลุดนั่นเอง

ปกของชุดกะลาสี

...ปกกว้างสีเข้มของชุดกะลาสีมีความเป็นมาจากในสมัยก่อนที่ความเป็นอยู่ในเรือยังไม่สะดวกสบายนัก รวมทั้งน้ำจืดภายในเรือมีปริมาณจำกัด ชาวเรือที่ออกเรือไปในทะเลเป็นเวลานานจึงมักไม่มีโอกาสได้อาบน้ำตัดผมให้เป็นที่เรียบร้อย จึงมักรวบผมและลงน้ำมันเพื่อไม่ให้ชี้ฟูรุงรัง โดยปกเสื้อแบบกว้างสีเข้มใช้สำหรับป้องกันไม่ให้ชุดเปื้อนน้ำมันจากผม อย่างไรก็ดีในปัจจุบันกะลาสีเรือเลิกไว้ผมยาวและตัดผมสั้นเรียบร้อยดีแล้ว ปกเสื้อกะลาสีจึงเหลือเป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติเดิม และกองทัพเรือบางประเทศได้เปลี่ยนสีปกเสื้อเป็นสีขาวเพื่อให้เข้ากับชุดกะลาสีสีขาว (ชุดกะลาสีไทยยังใช้ปกสีเข้มอยู่) นอกจากนี้การทำงานในเรือสมัยก่อนมักเป็นงานแรงงานบนดาดฟ้า ไม่เหมือนเรือสมัยใหม่ที่ติดเครื่องปรับอากาศ จึงมีผ้าผูกคอเสื้อสีเข้มไว้สำหรับซับเหงื่อไคลแทนการเช็ดแขนเสื้อ

ชุดกะลาสี ทัพเรือไทย

ชุดกะลาสีมีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยเรือใบ เดิมทีกะลาสีเรือไม่มีชุดเครื่องแบบตายตัว จะมีก็แต่นายทหารที่มีชุดเครื่องแบบ ซึ่งต่างจากทหารบกที่มีชุดเครื่องแบบทุกชั้นยศเพื่อให้แยกแยะฝ่ายออกเวลาทำการรบบนบก ส่วนกะลาสีเรือใบนั้นเป็นงานที่หนักและยากลำบากทำให้เรือรบในสมัยก่อนหาลูกเรือประจำได้ยาก ที่มาของกะลาสีเรือจึงมักเป็นขี้เมาข้างถนนและกุ๊ยที่ไม่มีที่ไป ซึ่งในสมัยนั้นเรือรบมักกำหนดการแต่งการของกะลาสีเรือกันเองเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยได้พัฒนาเป็นระเบียบกำหนดชุดเครื่องแบบสำหรับกะลาสีเรือในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ชุดกะลาสีในปัจจุบันมีรูปแบบใกล้เคียงกันในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งก็มีที่มาจากชุดกะลาสีในสมัยโบราณนั่นเอง โดยลักษณะเด่นของชุดคือเป็นเสื้อปกกว้างมีผ้าผูก กับกางเกงขากว้าง สีของชุดมักเป็นสีน้ำเงินดำหรือสีขาว

02 พฤศจิกายน 2556

พลังงานแสงอาทิตย์

การใช้พลังงานธรรมชาติ ที่สามารถหาได้ง่ายในบ้านเมืองเรา ต้องรู้จักการจัดการติดตั้งระบบ รู้จักการทำงานของระบบ รู้จักข้อดีข้อเสีย ค่าใช้จ่าย งบประมาณ และอะไรๆอีกหลายอย่างประกอบกัน ให้การติดตั้ง การดูแลซ่อมบำรุงรักษา การใช้งานอย่างสะดวก ถูกต้อง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งจำเป็นเพราะหากเราไม่รู้ว่า มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ใช้อย่างไร แล้วปัญหาที่จะเกิดมันเป็นอย่างไร จะทำให้ทำแล้วไร้ประโยชน์เปล่าๆ การใช้พลังงานแสงดอาทิตย์ ต้องประกอบไปด้วย
1.แผงรับแสงแดด และเปลี่ยนพลังงานแสงแดด เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (มีหลายระดับความต่างศักย์ หรือ Volt, และกำลังไฟในการชาร์ต ยิ่งวัตต์มาก ยิ่งแพงมาก แต่สามารถขยายเพิ่มแผงออกไปได้)
2.กล่องควบคุมการชาร์จไฟ เพื่อควบคุมไม่ให้ไฟจากแบ็ตย้อนกลับไปที่แผง ต้องให้เหมาะกับขนาดของแผ่นรับแสง มีกำหนดค่าเป็น แอมป์
3.แบ็ตเตอร์รี่ ไว้สำหรับประจุไฟ โดยเลือกให้ตรงกันทั้งชุด เช่น 12V., 24V. และ
4.อุปกรณ์ที่สามารถใช้กับไฟตรงจากแบ็ตเตอร์รี่ได้อย่างเหมาะสม เช่น หลอด LED 12V. ที่ชาร์ตโทรศัพท์แบบต่อจากที่จุดบุหรี่ในรถ, เครื่องแปลงไฟตรงเป็นไฟสลับ หรือ Inverter 12v./220V. เพื่อนำไฟไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าตามบ้านทั่วไป แต่ต้องคำนึงถึงขนาดของเครื่องแปลงไฟ กับ อุปกรณ์ไฟฟ้าให้เหมาะสมด้วย หากอุปกรณ์ใช้ไฟมีขนาดกำลัง วัตต์มากกว่า จะทำให้เครื่องแปลงเสียหายได้
5.อุปกรณ์อินเวอร์เตอร์กริด คืออุปกรณ์ที่แปลงไฟ DC 12V./24V. => 220V. แต่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าเครื่องแปลงไฟแบบแรก ตรงที่สามารถทำหน้าที่แปลงไฟจากแผงรับแสงแดดมาเป็นไฟฟ้าบ้านโดยตรงไม่ต้องนำไปเก็บไว้ที่แบ็ตเตอร์รี่ โดยควบคุมไฟฟ้าให้เข้าสู่ระบบจ่ายไฟของการไฟฟ้าได้ มิเตอร์จะหมุนกลับเมื่อการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านน้อยกว่าการผลิตไฟฟ้าจากแผงรับแสงแดด มีการควบคุมการตัด/จ่ายไฟได้ ทำให้ไฟฟ้าที่เราผลิตจากภายในบ้านขายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าโดยมิเตอร์ไฟฟ้าจะหมุนกลับทิศกัน เมื่อไฟฟ้าจากบ้านเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้า