นกหวีดเรือที่จ่ายามใช้ นั้น เป็นสิ่งที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นเครื่องประดับของบุคคลผู้มีอาชีพในทางทะเลอย่างหนึ่ง
นกหวีดเรือหรือขลุ่ยในสมัยโบราณซึ่งทาสในเรือแกลเลย์ของกรีซและโรมเป็นคนกระเชียงนี้น ใช้สำหรับการบอกจังหวะกระเชียง ตามรายงานปรากฏว่านกหวีดเรือได้ใช้ในสงครามครูเสดในปี พ.ศ.๑๗๙๑ เมื่อคนถือหน้าไม้ชาวอังกฤษถูกเรียกขึ้นมาบนดาดฟ้าเพื่อให้ทำการยิงตามสัญญาณ
ในสมัยหนึ่งนกหวีดเรือ ได้กลายเป็นเครื่องประดับสำหรับตำแหน่งราชการและในบางกรณีก็ใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับเกียรติยศตามตำแหน่งด้วยเหมือนกัน จอมพลเรือมีนกหวีดทองคำผูกติดกับสร้อยห้อยคอ นกหวีดเรือทำด้วยเงินใช้สำหรับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุดทั้งหลายเป็นเครื่องหมายสำหรับราชการ หรือห้อย นกหวีดเงินที่คอเพิ่มจากนกหวีดทองคำเกียรติยศอีกด้วย นกหวีดเรือในปัจจุบันใช้สำหรับการเคารพและสำหรับบอกคำสั่งแก่ทหาร
ในการรบที่นอกเมืองเบรสต์ เมื่อ ๒๕ เม.ย. พ.ศ.๒๐๕๖ ระหว่างเสอร์ เอดเวอร์ด โฮวาร์ด จอมพลเรือและบุตรเอิรล แห่งเชอร์เรย์ กับ เชอวาลีเอเปรตังต์ เดอ บีดูช์ เล่ากันว่า เมื่อจอมพลเรือแน่ใจว่าจะถูกจับเป็นเชลยแล้ว ท่านได้ขว้างนกหวีดทองคำลงทะเลไปแต่นกหวีดเงินซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการบังคับบัญชายังคงซ่อนอยู่ในตัวท่าน
น้ำหนักถือเป็นเกณฑ์ของนกหวีดเกียรติยศ และชื่อส่วนต่าง ๆ ของนกหวีดนั้นพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ เป็นผู้ทรงตั้งขึ้น พระองค์ได้ออกกฤษฎีกาว่า นกหวีดจะต้องหนัก ๑๒ ฮูนส์ (Oons) ทองคำ ซึ่งคำว่าฮูนส์เป็นที่มาของคำว่า เอาช์ สร้อยที่ใช้ห้อยคอต้องทำด้วยทองคำเหมือนกันและจะต้องมีเนื้อทองของเหรียญดูกัต
นอกจากนกหวีดจะใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับตำแหน่งในทางการและสำหรับนายทหารใช้เมื่อออกคำสั่งเอง ยังใช้สำหรับการรับรองบุคคลชั้นสูงอีกด้วย
การที่ทหารมาแถวที่ข้างกราบเรือ ตามที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ สืบเนื่องแต่กาลก่อนการเป่านกหวีดเรือเคารพพร้อมด้วยยามยืนรับรอง จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
ประเพณีในสมัยเรือใบนั้น ย่อมจัดให้มีการประชุมกันในเรือธง และเพื่อที่จะเชื้อเชิญนายทหารไปรับประทานอาการร่วมกันขณะที่เรือจอดอยู่ในทะเล ในเมื่อโอกาสอำนวยบางครั้งอากาศทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องชักผู้ที่เชิญมานั้นขึ้นทางเก้าอี้จ่ายาม โดยใช้นกหวีดเรือเป่าบอกเพลงชักขึ้นหรือหย่อนลงมา (หะเบส หรือ หะเรีย) เนื่องจากทหารประจำเรือต้องคอยชักคนขึ้นเรือนี้เอง และด้วยการที่เขามาร่วมกันข้างเรือ จึงทำให้เกิดประเพณีที่จะต้องมาคอยต้อนรับขึ้น ต่อมาก็เลยกลายเป็นมารยาทของชายเรือไปในอันที่จะต้องกระทำในราชนาวีอังกฤษเมื่อได้รับรายงานว่าผู้บังคับการเรือมาใกล้จะถึงเรือ นายยามจะออกคำสั่ง “Hoist him in” ซึ่งแปลว่า ชักเขาขึ้นมาบนเรือ
มีนิทานท้ายเรือ ซึ่งไม่ยืนยันว่าจะเป็นความจริงเพียงใด เล่าว่าเมื่ออังกฤษทำสงครามกับฝรั่งเศสในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ในการยุทธ์ที่เกาะเซนต์ นายพลเรือรอดนีย์เป็นแม่ทัพเรือและได้ชัยชนะ วันหนึ่งทางฝ่ายบ้านเมืองได้จัดให้มีการเลี้ยงฉลองชัยชนะแก่กองทัพเรือ บรรดานายทหารในกองทัพเรือทั้งหมดได้รับเชิญไปในงาน เนื่องจากการดื่มอวยพรครั้งแล้วครั้งเล่า ในเวลากลับนายทหารจึงต้องช่วยท่านแม่ทัพในการลงเรือเล็ก ประกอบกับวันนั้นอากาศไม่ดีคลื่นจัดลมแรง เมื่อกลับถึงเรือคนอื่นต่างต้องฝ่าอันตรายช่วยตัวเองในการขึ้นเรือ แต่ท่านแม่ทัพ แม้จะทำการใหญ่สำเร็จแล้ว ก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ผู้บังคับการเรือจึงให้สั่งให้นำเรือโบตไปที่หลักเดวิท และชักเอาร่างของท่านแม่ทัพขึ้นทางนั้น
รุ่งขึ้นท่าแม่ทัพได้ทราบความ จึงมีคำสั่งไปยังเรือทั้งหลายในกองเรือนั้นว่า “ถ้านายพลจะขึ้นมาบนเรือ ให้เป่านกหวีดเพลงสัญญาชักขึ้น เพื่อเป็นการเคารพ ๑ จบ” ครั้นต่อมาเมื่อเห็นว่าโดยที่การขึ้นเรือนกหวีดเรือ ได้เป่าเพลงคำนับแล้ว เมื่อไปจากเรือก็ควรได้รับการเคารพเช่นเดียวกัน จึงได้มีคำสั่งอีกว่า “เมื่อนายพลจะไปจากเรือให้เป่านกหวีดเพลงหย่อนลงเพื่อเป็นการเคารพอีกจบหนึ่ง” ตามที่เล่ามานี้จึงเป็นอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของประเพณีการเคารพนกหวีดเรือ
การรับรองที่บันไดเรือในปัจจุบันนี้ เป็นมารยาทที่นิยมกันในระหว่างชาวเรือ แต่ในสหรัฐนาวีได้ขยายออกไปถึงทหารบก ทูต และ กงสุล และเจ้าหน้าที่ในแผนกนิติบัญญัติและเจ้าหน้าที่บริหารของรัฐด้วย ซึ่งเป็นประเพณีเช่นเดียวกับราชนาวีไทย
แม้จะมีประเพณีดังกล่าวข้างต้นแล้วก็ดี สำหรับนายทหารเรือในนาวีด้วยกัน ผู้ที่จะได้รับการเคารพด้วยนกหวีดเรือนั้น ทุกนาวีย่อมกระทำแก่ผู้บังคับการเรือทุกคนไม่ว่าจะมียศชั้นใดและนายทหารตั้งแต่ชั้นนายนาวาขึ้นไป แต่ถ้าเป็นนายทหารต่างประเทศแล้วไม่ว่าจะมียศชั้นใดย่อมได้รับการเคารพด้วยนกหวีดเรือเสมอไป
แหล่งที่มา : เอกสารระเบียบประเพณีทหารเรือของกองทัพเรือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น