หมวดหมู่

08 กรกฎาคม 2557

อันตรายจากสีทาบ้าน

อันตรายจากสีทาอาคารบ้านเรือน

วันชัย สุทธิทศธรรม
      ปัจจุบันวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการคิดค้นและผลิตสีออกมามากมายเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้สีในการตกแต่งให้เกิดความสวยงาม ป้องกันสนิม ตลอดจนจุดประสงอื่นๆ ตามตอ้งการ ดังนั้นอุตสาหกรรมการผลิตสีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะสีที่ใช้ทาอาคาร สำนักงาน โรงงาน ตลอดจนบ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่ที่กล่าวมาแล้วท่านทราบหรือไม่ว่าสีที่ใช้สำหรับทาอาคารบ้านเรือนต่างๆ เหล่านี้มีอันตรายแอบแฝงอยู่ ซึ่งจะได้กล่าวถึงอันตราย วิธีการใช้งาน และวิธีป้องกันอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าสีทาอาคารคืออะไร มีส่วนประกอบอะไร       สีทาอาคาร คือ ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปของเหลว ลักษณะเหนียวคล้ายแป้งเปียก (Paste)หรือ เป็นผง จะโดยการทา พ่น หรือ จุ่มบนผิววัตถุ หลังจากที่เคลือบแล้ว จะแปรสภาพเป็นฟิล์มแข็งที่ให้ความงดงาม และปกป้องรักษา หรือ เพื่อจุดประสงค์อื่น      องค์ประกอบของสีมี 4 ชนิด คือ      1.สารนำสี (Binder agent)      สารนำสี คือ สิ่งที่ใช้ยึดเหนี่ยวผงสี หรือ รงควัตถุที่อยู่ในชั้นของฟิล์มสีและทำให้ฟิล์มสียึดเกาะกับพื้นผิวที่เราเคลือบได้เป็นอย่างดี หรือ ที่หลายๆท่านเรียกว่า "กาว" ในปัจจุบันมีอยู่มากมายชนิด แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
      1.1สารนำสีประเภทละลายน้ำได้ (Water base bindering agent)      สารนำสีประเภทนี้มีคุณสมบัติละลายได้ในน้ำ นิยมใช้กับสีทาอาคารที่เรียกว่าสีน้ำ หรือ สีพลาสติก ตัวอย่างเช่น latex, vinyl acetate resins, acrylic resins, polyvinyl acetate copolymer
      1.2สารนำสีประเภทละลายได้ในน้ำมัน (Oil base binding agent)      สารนำสีประเภทนี้มีคุณสมบัติละลายได้ในน้ำมัน นิยมใช้กับสีทาอาคารบ้านเรือน เรียกว่า สีน้ำมัน ตัวอย่างเช่น alkyl resins, melamine resins, epoxy resins, formaldehyde resins, hydrocarbon resins
อาการพิษ      ความเป็นพิษของสารนำสี ทั้งประเภทละลายได้ในน้ำ และ น้ำมัน จะมีอาการคล้ายกันคือ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ระคายเคืองเยื่อจมูกและตา ความเป็นพิษของสีทาอาคารส่วนใหญ่เกิดจากผงสีและตัวทำละลายที่ใช้ผสมมากกว่า      2.ผงสี (Pigment)      ผงสี คือ ส่วนที่ทำให้เกิดสีสัน ตามที่ต้องการ ซึ่งสามารแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
      2.1 ผงสีอินทรีย์ (Organic pigment)      ผงสีประเภทนี้เป็นสารประกอบอินทรีย์ อาจได้จากธรรมชาติ หรือ สังเคราะห์ขึ้นมา ได้แก่ สารอินทรย์ในกลุ่ม azo dyesที่ได้จากธรรมชาติ กลุ่ม isocyanates และกลุ่ม Organometallic ฯลฯ ตัวอย่างผงสีอินทรีย์ที่ใช้ได้แก่ Hansa yellow, carbon black, phthalocyanide blue เป็นต้น
อาการพิษ      ส่วนมากจะเป็นสารก่อมะเร็ง และความเป็นพิษนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดต่างๆของผงอิทรีย์
      2.2 ผงอนินทรีย์ (Inorganic pigment)      ผงสีประเภทนี้เป็นสารประกอบอนินทรีย์ ส่วนมากได้แก่ สารประกอบออกไซด์ของโลหะต่างๆ เช่น iron oxide, chrome yellow, titanium dioxide ฯลฯ
อาการพิษ      ความเป็นพิษของผงสีอนินทรีย์ เป็นตัวการในการเกิดพิษของสีทาอาคาร ส่วนใหญ่เกิดจากโลหะต่างๆ ที่ผสมอยู่ มีคุณสมบัติในการเกิดพิษคล้ายกัน ยกเว้น คุณสมบัติบางชนิด เช่น การดูดซึมในทางเดินอาหาร การขับถ่ายออกจากร่างกาย และความรุนแรงของการเกิดพิษสามารถแบ่งประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
      1.สารประกอบโลหะที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ เช่น ออกไซด์ของเหล็ก ทังสเตน
      2.โลหะที่มีผลต่อระบบต่างๆภายในร่างกาย เช่น โครเมียม นิเกิล ตะกั่ว สารหนู
      3.ตัวทำละลาย (Solvents)
ตัวทำละลายส่วนมากเป็นสารที่ระเหยได้ ใช้สำหรับช่วยให้เกิดความสะดวกสบายในการข่นส่ง และ ใช้งาน แบ่งได้ เป็น 2 ประเภทคือ ประเภทตัวทำละลายที่เป็นน้ำ และ ตัวทำละลายที่ใช้กับ oil base binding agent ซึ่งมีอยู่หลายประเภท แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภท คือ
      3.1.กลุ่มอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Aromatic hydrocarbons) ได้แก่ toluene, benzene, xylene
      3.2.กลุ่มเอสเทอร์ (Esters)ได้แก่ acetone, methyl ethyl ketone, methyl isobutyl ketone
      3.3.กลุ่มอีเทอร์ (Ethers) ได้แก่ ethylene glycol monoethyl ether, ethylene glycol monomethyl ether, ethylene glycol monobutyl ether, ethylene glycol monoethyl ether acetate
อาการพิษ      1.พิษเฉียบพลัน มักจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากการสูดดม แต่อาการจะมากหรือน้อง ขึ้นอยู่กับชนิด และ ปริมาณที่สูดดมเข้าไป ถ้ารับในปริมาณสูงเกิดนขนาด สารระเหยจะไปกดศูนย์การหายใจ ทำให้ตายได้ อาการอื่นๆ ที่เกิดหลังจากการสูดดม ได้แก่ เริ่มแรกรู้สึกสบาย เป็นสุข เคลิบเคลิ้ม ศีรษะเบาหวิว ต่อมามีอาการคล้ายเมาสุรา พูดจาอ้อแอ้ ไม่ชัดเจน มีความไวต่อแสงมากขึ้น ประสาทหลอน ควบคุมตนเองไม่ได้
      2.พิษเรื้อรัง เกิดจากการสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกาย เสื่อมสมรรถภาพ เช่น เกิดการทำลายเยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ มีการระคายเคืองเยื่อบุจมูก มีเลือดออก ผนังถุงลมและผนังหลอดเลือดฝอยในปอดถูกทำลาย เกิดอาการปอดอักเสบ และภาวะการหายใจล้มเหลว นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบสร้างเม็ดเลือด ระบบหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบกล้ามเนื้อ และระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะการทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองหงุดหงิด อารมณ์อ่อนไหว การตัดสินใจเสียไป หวาดระแวงไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ขั้นรุนแรงทำให้เกิดการพิการทางสมองได้
      4.สารปรุงแต่ง (Additives)      เป็นสารที่เติมลงไปเพื่อให้สีมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามต้องการ ซึ่งประกอบด้วย
      1.Plasticizer ทำหน้าที่ปรับความแข็งของฟิล์มสีเมื่อแข็งตัว เพิ่มความยืดหยุ่นของฟิล์มสี ให้สามารถทนแรงกระแทก การดัดงอ
      2.สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Bactericide) ส่วนใหญ่จะใช้กับสีชนิด water base เพื่อป้องกันมิให้สีภายในภาชนะบรรจุสีเสื่อมสภาพ
      3.สารฆ่าเชื้อรา (Fungicide) ใช้สำหรับป้องกันการขยายพันธุ์ และการเจริญเติบโตของสาหร่าย และเชื้อรา
      4.สารกันฟอง (Defoamer) เพื่อป้องกันฟองอากาศ ทั้งในขั้นตองการผลิต และการใช้งาน
      5.อื่นๆ ตามวัตถุประสงค์กาใช้งาน
อาการพิษ      สารปรุงแต่ง จะใช้ในปริมาณน้อย และมีความเป็นพิษค่อนข้างเฉพาะตัวขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ใช้
      การป้องกันอันตรายจากสีทาอาคาร      1.พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สีนั้นเข้าสู่ร่างกาย
      2.ควรสวมหน้ากากป้องกันละออกง และ ไอของสารพิษ
      3.ไม่ควรสูบบุหรี่หรือ รับประทานอาหารขณะทำงานคลุกคลีกับสี
      4.เมื่อเสร็จงานแล้วควรอาบน้ำ และทำความสะอาดชุดที่ทำงาน
      5.เมื่อเกิดอาการแพ้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
      6.เก็บสีให้ห่างจากอาหาร เด็ก และ เปลวไฟ

      การรักษาเบื้องต้น      1.สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานสีเข้าไป ส่วนมากจะเกิดกับเด็กเล็ก จะเกิดอาการพิษเฉียบพลันหากกินเข้าไปเกิน 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วิธีแก้ไข้เบื้องต้นคือ ทำให้อาเจียนโดยให้กินยาให้อาเจียน (Ipecac) และให้ผงถ่าน (Activated charcoal) แล้วนำส่งแพทย์
      2.กรณีสูดดม ให้นำผู้ป่วยไปรับอากาศบริสุทธิ์ เพื่อช่วยระบบหายใจ
      3.กรณีเข้าตา จะทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างมาก ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที จนกว่าการมองเห็นจะปกติ
      4.กรณีสัมผัสถูก ให้ล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยสบู่อย่างอ่อนแล้วล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง แต่ถ้าเป็นสีประเภท oil base ให้เช็ดด้วยน้ำมันพืช หรือ baby oil แล้วล้างน้ำสบู่และน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา : หนังสือความรู้สิ่งเป็นพิษ ตอนที่ 10 พ.ศ.2538 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หน้าที่ 5-11.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น