หมวดหมู่

06 พฤษภาคม 2557

เครื่องราชฯ สำหรับข้าราชการพลเรือน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย (The Most Noble Order of the Crown of Thailand) และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก (The Most Exalted Order of the White Elephant) เป็นตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้ประกอบคุณงามความดีแก่บ้านเมืองทั้งบุรุษและสตรีเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศ โดยผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะมีประกาศรายนามลงในราชกิจจานุเบกษา

การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลมงกุฎไทยและช้างเผือกให้แก่ข้าราชการจะพิจารณาจากตำแหน่ง ระดับ ชั้น ระยะเวลา และความดีความชอบ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536 โดยให้เริ่มขอจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกสลับกัน ดังนี้
ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย
ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
ชั้นสายสะพาย
ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการพลเรือน มีแนวทางยึดตามระดับดังนี้
ระดับ 1-2 อายุราชการครบ 5 ปี ขอ บ.ม. (เริ่มขอ)
ระดับ 2 ได้ บ.ม. 5 ปี ขอ บ.ช.
—————————————————
ระดับ 3-4 ขอ จ.ม. (กรณีได้เลื่อนระดับจากชั้นตรีเป็นชั้นโท) หากเริ่มบรรจุราชการที่ชั้นโทต้องมีอายุราชการครบ 5 ปีเสียก่อน
ระดับ 3-4 ได้ จ.ม. 5 ปี ขอ จ.ช.
—————————————————
ระดับ 5-6 ขอ ต.ม. (กรณีได้เลื่อนระดับจากชั้นโทเป็นชั้นเอก) หากเริ่มบรรจุราชการที่ชั้นเอกต้องมีอายุราชการครบ 5 ปีเสียก่อน
ระดับ 5-6 ได้ ต.ม. 5 ปี ขอ ต.ช.
—————————————————
ระดับ 7-8 ขอ ท.ม. (กรณีได้เลื่อนระดับจากชั้นเอกเป็นชั้นพิเศษ)
ระดับ 7-8 ได้ ท.ม. 5 ปี ขอ ท.ช.
ระดับ 8 – ได้ ท.ช. 5 ปี ขอ ป.ม.
ระดับ 9 – ได้ ท.ช. 3 ปี ขอ ป.ม., ได้ ป.ม. 3 ปี ขอ ป.ช., ได้ ป.ช. 5 ปี ขอ ม.ว.ม., ปีที่เกษียณขอเพิ่มอีก 1 ชั้นตรา แต่ไม่เกิน ป.ช.
ระดับ 10 – ได้ ป.ม. 3 ปี ขอ ป.ช., ได้ ป.ช. 3 ปี ขอ ม.ว.ม., ได้ ม.ว.ม. 5 ปี ขอ ม.ป.ช., ปีที่เกษียณขอเพิ่มอีก 1 ชั้นตรา แต่ไม่เกิน ม.ว.ม.
ระดับ 11 – ได้ ป.ม. 3 ปี ขอ ป.ช., ได้ ป.ช. 3 ปี ขอ ม.ว.ม., ได้ ม.ว.ม. 3 ปี ขอ ม.ป.ช., ปีที่เกษียณขอเพิ่มอีก 1 ชั้นตรา
สำหรับลำดับแพรแถบนั้นให้ดูจากลำดับชั้นตราก่อน เช่น ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.) มีศักดิ์สูงกว่า ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.) หากอยู่ในชั้นเดียวกัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก มีศักดิ์สูงกว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย
บุคคลหนึ่งสามารถเก็บเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้เพียง 2 ชั้นตราเท่านั้น หากได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีชั้นตราสูงขึ้นจะต้องคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีชั้นตรารองให้แก่หลวง ตัวอย่างเช่น หากเรามีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ม. และ จ.ช. เมื่อเราได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ช. จะต้องคืน จ.ช. (เราจะมีช้างเผือกและมงกุฎไทยได้อย่างละ 1 ชั้น)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลมงกุฎไทยและช้างเผือก เป็นของพระราชทานให้เป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น ไม่มีการสืบต่อถึงทายาท หากบุคคลนั้นประพฤติตนทำให้เสื่อมเสียเกียรติแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หลวงมีสิทธิ์เรียกคืน หรือบุคคลนั้นเสียชีวิตลง ทายาทต้องนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ส่งคืนหลวง (แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องทำของจำลองเป็นที่ระลึกแก่ตระกูล)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น